กองทุน กทปส. สนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรมโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. กล่าวว่า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ปฏิบัติภารกิจในส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ส่งเสริมชุมชน ผู้ประกอบกิจการการบริการชุมชน การวิจัยและพัฒนา พัฒนาบุคากร ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ครั้งนี้ กทปส. ได้อนุมัติโครงการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อเตรียมความพร้อมรับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อวัตถุประสงค์ของโครงการในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical distancing ต่อสู้สถานการณ์ “ไวรัสโคโรนา” สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
"โครงการฯ ได้จัดเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 นอกสถานที่ เพื่อให้โรงพยาบาลมีห้องแยกโรคชนิดความดันลบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อีกทั้งการผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่าง โควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ผ่านการสนับสนุนในโครงการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อรองรับผู้ป่วยและเตรียมความพร้อมรับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา"
นายแพทย์สมยศ โล่จินดาพงศ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา กล่าวว่า โครงการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ และระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อเตรียมความพร้อมรับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจาก กทปส. เพื่อเตรียมความพร้อมสถานการณ์ “ไวรัสโคโรนา” สายพันธุ์ใหม่ 2019 ร่วมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ตั้งแต่ปี 2563 โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการฯ จำนวน 16,556,000 บาท เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ได้ดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ทั้ง 3 ส่วน
นอกจากนี้ มีการจัดเตรียมครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันขนาดเล็ก กล้องอินฟราเรดสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องเฝ้าระวังและติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ จำนวน 4 ห้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศ พร้อมกันนั้น โครงการฯ ยังพัฒนาระบบ IoT ในห้องความดันลบ และพัฒนาระบบ Teleconference เพื่อใช้การดูแลรักษาผู้ป่วย พัฒนา API (Application Programming Interface) สำหรับการเชื่อมต่อระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS ใหม่) และเครื่องมือวัดสัญญาณชีพผู้ป่วย รวมทั้งจัดเตรียมเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ในกระบวนการคัดกรองวินิจฉัยให้รวดเร็วเพียงพอ โดยมีเป้าหมายคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อ จำนวน 4,800 ราย