ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ฟันธงธุรกิจวางระบบประหยัดไฟสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มสดใส คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปีจากนี้ ปัจจัยบวกชัดจากสัญญาณอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งดันให้ธุรกิจไทยลงทุนเพิ่มขึ้น ยังมีการขยายเข้ามาทำตลาดไทยของหลายแบรนด์ที่จะเกิดการลงทุนระลอกใหญ่ นำไปสู่การเทเงินพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืน กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนในท้องถิ่นและต่อโลกใบนี้
อภัย แอนิล โกสานการ์ (Abhay Anil Ghosalkar) รองประธานกลุ่ม Secure Power ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่มประเทศไทย ลาว และพม่า กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจ Sustainability และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันด้านการจัดการพลังงานช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65 ว่า ตลาดจะเติบโตตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ของธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังมีเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเติบโตในช่วงการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
"เราเชื่อว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระดับน่าสนใจ ซึ่งไม่เพียงปีหน้าที่ตลาดจะเติบโต แต่เชื่อว่าจะขยายตัวต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งเมื่อมีการลงทุนโครงสร้างแล้ว ธุรกิจก็จะมองว่าต้องมีการลงทุนในด้าน sustainability เป็นส่วนหนึ่งคู่กันไป"
การประเมินแนวโน้มนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเปิดตัว อีโคสตรักเจอร์ ไมโคร ดาต้าเซ็นเตอร์ มาตรฐาน IP และ NEMA สำหรับสภาพแวดล้อมการใช้งานที่ทนทานภายในอาคาร ระบบดังกล่าวถูกวางเป้าหมายให้ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการทำให้ระบบไอทีในโรงงานมีความเสถียรมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านวิศวกรรมได้มากถึง 40% นำระบบสู่ตลาดได้เร็วขึ้น 20%
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ย้ำว่า ปัจจุบันช่องโหว่ 3 ข้อผิดพลาดที่มักทำให้หลายบริษัทไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้ (Climate goal) คือองค์กรยังขาดกลยุทธ์พร้อมวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และการเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญภายในองค์กรและการจัดสรรทรัพยากรแบบไซโล ที่สำคัญคือการขาดกรณีศึกษาทางธุรกิจที่จะให้เหตุผลและการให้ทุนแก่โครงการ
***3 รูปแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ตัวขับเคลื่อนหลัก 5 ประการ
เพื่ออุดช่องโหว่เหล่านี้ ชไนเดอร์พยายามโปรโมต 3 รูปแบบ Greenhouse Gas Protocol หรือการกำหนดประเภทของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้แก่ ขอบเขตที่ 1 แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยโดยตรง : การปล่อยมลพิษโดยตรงจากการควบคุมภายในการปฏิบัติงานขององค์กร ขอบเขตที่ 2 แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยทางอ้อม : การปล่อยมลพิษทางอ้อมที่เกิดจากไฟฟ้าที่ซื้อ ความร้อนหรือความเย็น และขอบเขตที่ 3 แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยทางอ้อม : การปล่อยมลพิษทางอ้อมจากแหล่งต่างๆ เช่น การเดินทางเพื่อธุรกิจ การจัดการของเสีย และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อเป็นแนวทางในภาพรวม
ทั้งหมดเป็นแนวทางที่ผู้บริหารในระดับ C-level มีความสนใจ เห็นได้จากการสำรวจของชไนเดอร์เรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืนพบว่า โดย 99% จากความคิดเห็นของ CEO บริษัทใหญ่เห็นด้วยว่าประเด็นด้านความยั่งยืนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจ และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติ เห็นได้จาก 49% ของจีดีพีประจำปีของโลก (มูลค่าเทียบเท่ากับ 39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) มาจากหลายประเทศทั่วโลกที่มีการออกกฎหมายให้มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
การสำรวจยังพบว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืนยังเป็นความคาดหวังของนักลงทุนด้วย เห็นได้จาก 75% ของผู้บริหารการลงทุนเห็นด้วยว่าผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
สิ่งที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทำคือ การวางปรัชญาด้วยตัวขับเคลื่อนหลัก 5 ประการ เพื่อความยั่งยืนที่ครอบคลุมของดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเริ่มที่ประการแรก การกำหนดกลยุทธ์ความยั่งยืนแบบองค์รวม ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม (รวมถึงขอบเขตการปล่อยมลพิษข้อ 1, 2 และ 3 รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วัตถุดิบ ดิน น้ำ) โดยใช้ประโยชน์จากหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คู่กับการกำหนดเป้าหมายที่วัดผลได้จริง เพื่อสร้างโปรแกรมที่เป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้ รวมถึงการสร้างรายงานสู่ภายนอกด้วยความโปร่งใส
ประการที่ 2 คือ ใช้การออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนนี้คือการให้ความสำคัญของความยั่งยืนเป็นพารามิเตอร์หลักในการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ โดยการออกแบบให้ใช้งานได้ยาวนานและให้บริการได้จริง โดยเน้นการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ และนำไปทำซ้ำได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดๆ ในโลก ร่วมกับการเลือกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมสำหรับการหมุนเวียน
ประการที่ 3 คือ ขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้ประโยชน์จากพลังของข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบและอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OpEx) และการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเก่าให้เป็นดิจิทัล ใช้แนวทางการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ และใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อระบุและจัดการความไร้ประสิทธิภาพในโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูล
ประการที่ 4 คือ ซื้อพลังงานทดแทน ร่วมกับจัดการกับการปล่อยมลพิษตามขอบเขต 2 โดยการกำจัดคาร์บอน ด้วยกลยุทธ์การจัดซื้อพลังงานแบบผสมผสานกับพลังงานหมุนเวียน พร้อมกับพยายามบรรลุเป้าหมายระยะยาวผ่านการผสมผสานระหว่างตัวเลือกการจัดซื้อจัดจ้างโซลูชันแบบออนไซต์ และแบบออฟไซต์ รวมไปถึงการรับรองคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Attribute Certificates - EAC)
ประการที่ 5 คือ Decarbonize ห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการจัดการกับการปล่อยมลพิษในขอบเขต 3 โดยการกำหนดโครงการลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และลดการปล่อยมลพิษอื่นๆ ในขอบเขตที่ 3 โดยเฉพาะการระบุปริมาณของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน กำหนดโครงการและเป้าหมายการลดคาร์บอน และมีส่วนร่วมกับพันธมิตรที่สนับสนุนแนวคิดริเริ่มเหล่านั้น
***แข่งขันบริษัทจีนสบาย
สำหรับตลาดไทย ผู้บริหารชไนเดอร์ชี้ว่ามีงานวิจัยมากมายโดยเฉพาะการวิเคราะห์จาก IDC ที่ย้ำว่าจะมีการเติบโตสูงมากในประเทศกลุ่มเอเชีย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นพื้นที่ที่การลงทุนเติบโตมากที่สุด โอกาสนี้เชื่อว่าเป็นปัจจัยบวกกับธุรกิจเพราะชไนเดอร์สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในแง่นโยบายและเทคโนโลยีช่วยให้องค์กรสามารถทำธุรกิจได้ในแบบ sustainability ผ่านสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
ในมุมการแข่งขัน ชไนเดอร์มองว่ากลุ่มคู่แข่งสัญชาติจีนที่รุกหนักยิ่งขึ้นนั้นจะเป็นผลดีต่อตลาด แต่จะไม่มีผลกระทบกับชไนเดอร์เพราะมั่นใจว่าบริษัทสามารถนำเสนอโซลูชันได้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมีสินค้าที่ตอบโจทย์ครบทั้ง 3 รูปแบบของการลดคาร์บอน
"ชไนเดอร์มีโซลูชันที่ออกแบบให้รองรับได้ มี product มากกว่า 60% ที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้าน sustainability ช่วยให้องค์กรสามารถมีระบบบริหารจัดการพลังงานใน data center และโครงข่ายดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ"