AIS Academy ประกาศผลทีมผู้ชนะโครงการ JUMP THAILAND ภายใต้หน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT โดยทีม DONE DO DEE เป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยผลงาน “เลิกเผาด้วยคาร์บอนเครดิต” ลด PM 2.5 และปัญหาดินเสื่อมจากการเผาไร่ของเกษตร ด้วย Carbon Coin แลกเหรียญเป็นเงินสดใช้ในการค้ำประกันในการกู้เงินทุน หรือเครื่องมือทางการเกษตร
น.ส.กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า JUMP TO INNOVATION เป็นหนึ่งในแกนสำคัญของโครงการ JUMP THAILAND 2021 จาก AIS Academy เพราะเชื่อว่านวัตกรรมจะสามารถนำมาสร้างคุณค่าเพื่อยกระดับสังคม หรือแม้กระทั่งแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเห็นผล
สำหรับในปีนี้ได้นำเรื่องของคุณภาพอากาศที่ยังคงสร้างปัญหาให้สังคมไทยในทุกช่วงปลายปี ที่ต้องเผชิญกับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง หากได้มีการระดมสมองจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน หรือกลุ่ม Startup ที่เชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา จนได้หลากหลายไอเดียดีๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อสู่นวัตกรรมเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศได้ รวมไปถึงการได้ร่วมแชร์ไอเดีย ฝึกวิธีคิดที่จะนำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า จากการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้นปีทำให้เราเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพมากพอในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างสรรค์และนำมาแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของมลพิษทางอากาศที่สร้างปัญหาให้ผู้คน และสังคมอย่างมาก แน่นอนว่ากิจกรรมในครั้งนี้ของ AIS จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมองเห็นศักยภาพในตัว Startup สัญชาติไทยในการคิดนวัตกรรมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ใหประเทศไทยได้แบบก้าวกระโดดต่อไป
สำหรับการแข่งขัน Virtual Hackathon ในโครงการ “JUMP THAILAND 2021” ได้ใช้โจทย์ในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อคุณภาพอากาศที่ยั่งยืน หรือ AIR INNO HACK ที่ผ่านการโหวตจากคนไทยในการนำนวัตกรรมเข้าแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของสังคม เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ Startup ได้เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อโชว์แนวคิดศักยภาพและนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าเพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพอากาศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญจากสายงานต่างๆ กว่า 10 ท่านร่วมตัดสินผลงาน โดยเกณฑ์ในการตัดสิน 3 ด้านหลักคือ
1.มิติของตลาด (Market Desirability)ไอเดียที่คิดขึ้นต้องไปต่อยอดในการสร้างสินค้าและบริการได้
2.มีความเป็นไปได้ (Operational Feasibility) ที่สามารถไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์สังคม
3.ความต่างที่สร้างสรรค์ (Uniqueness) คือนวัตกรรมนั้นๆ ต้องมีความแตกต่างกว่าที่ผ่านมา
โดยผู้ชนะคือทีม DONE DO DEE ที่นำเสนอผลงานนวัตกรรมมุ่งลด PM 2.5 จากการเผาไร่ของเกษตรกร ด้วยแนวคิด “เลิกเผาด้วยคาร์บอนเครดิต” ลด PM 2.5 และปัญหาดินเสื่อมจากการเผาไร่ของเกษตร โดยมี 4 ขั้นตอน คือ ลง ลด รับ แลก ที่ชวนเกษตรกรลงทะเบียนเลิกเผา จากนั้นใช้ข้อมูลดาวเทียมตรวจสอบว่าเกษตรกรเผาจริงหรือไม่
ด้วยการนำข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC คำนวณว่า ลดการเลิกเผาของเกษตรกรคิดเป็นเท่าไหร่ และนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้ภาคเอกชน เพื่อนำเงินดังกลับคืนสู่เกษตรกรให้รับในรูปแบบ Carbon Coin ที่สามารถนำไปแลกเป็นเงินสด หรือจะใช้ในการค้ำประกันในการกู้ อีกทั้งยังสามารถไปแลกเครื่องมือทางการเกษตรได้อีกด้วย ที่สำคัญเศษฟางที่เหลือจากการทำเกษตรทางทีมดังกล่าวพร้อมเป็นตัวกลางในการนำไปขายเศษพืชให้โรงงานถ่านหินชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเป็นรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง
“ภารกิจเฟ้นหาสุดยอดไอเดียนวัตกรรมที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอด เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมยกระดับคุณภาพอากาศ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย การแข่งขันในครั้งนี้นับว่าเป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างสังคมนวัตกรรมใหคนไทย ในขณะที่โลกยังคงหมุนต่อไปและไม่มีวันที่เราจะหยุดก้าวไปข้างหน้า วันนี้ AIS พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ และพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด”
ทั้งนี้ นอกจากโครงการ JumpThailand 2021 virtual Hackathon ทาง AIS จะมีอีกหนึ่งโครงการในแกนของ JUMP TO INNOVATION ที่เตรียมเปิดตัวในเร็วๆ นี้ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ Startup และผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรม จากสถาบันการศึกษาระดับโลก ในโครงการ Jump Bootcamp 2022 โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.jumpthailand.earth และ FB JUMPTHAILAND