ซิสโก้ (Cisco) เผยแผนธุรกิจปีหน้าพุ่งเป้าที่โซลูชันรองรับไฮบริดเวิร์กเพื่อการทำงานจากในและนอกสำนักงาน คู่กับการทำตลาดโซลูชันซิเคียวริตีที่เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดพุ่งแรงที่สุดเพราะองค์กรไทยตื่นตัววงกว้าง พร้อมต่อยอดธุรกิจโซลูชันแมนเนจแอปพลิเคชันเพื่อปูทางให้องค์กรยุคดิจิทัลมีช่องทางตรวจสอบและจัดการไม่ให้แอปล่ม ยอมรับธุรกิจซอฟต์แวร์ช่วงโควิด-19 ขยายตัวจนคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้รวม สอดคล้องกับตลาดไทยที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ช่วยเติมให้ธุรกิจโซลูชันแข็งแกร่งขึ้น
นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ซิสโก้จะดำเนินธุรกิจตามนโยบายหลักที่วางไว้สำหรับ 3 ปีนับจากนี้ คือ การช่วยให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อ รักษาความปลอดภัย และสามารถใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อให้ธุรกิจยืนหยัดได้แข็งแกร่งในโลกที่ทุกอย่างทำงานบนคลาวด์ โดยช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับตัวเป็นบริษัทซอฟต์แวร์มากขึ้นจนมีรายได้จากซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นชัดเจน ผลจากการทุ่มเททรัพยากรให้พันธมิตรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
“การลงทุนทั้งเวลาและทรัพยากรอื่นของซิสโก้ โฟกัสที่การอบรมพันธมิตรเกี่ยวกับธุรกิจซอฟต์แวร์มากขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่เป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่ในโซลูชัน 6 กลุ่มที่บริษัทให้ความสำคัญมาตลอด แม้จะมีแตกไลน์ไปบ้าง ภาวะนี้ทำให้รายได้จากซอฟต์แวร์เติบโตทุกปี และเติบโตมากกว่าพื้นที่ธุรกิจอื่น”
ซิสโก้เผยว่า บริษัทสามารถทำรายได้จากซอฟต์แวร์มากกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของรายรับรวม สถิตินี้มาจากการเติบโตของกลุ่มซอฟต์แวร์และพอร์ตโฟลิโอที่ออกแบบมาสำหรับโลกสมัยใหม่ตั้งแต่ Cisco Plus และ Webex Suite ไปจนถึง Silicon One และ Secure X ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากชัค รอบบินส์ (Chuck Robbins) ซีอีโอซิสโก้ที่คาดว่าในช่วง 4 ปีข้างหน้า 50% ของรายได้บริษัทจะมาจากการสมัครสมาชิกใช้บริการซอฟต์แวร์และโซลูชัน
สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารซิสโก้เชื่อว่าเม็ดเงินของตลาดซิเคียวริตีจะสะพัดมากกว่าตลาดไฮบริดเวิร์กและแมนเนจแอป เนื่องจากความตื่นตัวทั้งภาครัฐและเอกชนต่อการบังคับใช้ของกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หรือ PDPA รวมถึงภัยจากการเจาะระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งหมดนี้จะทำให้องค์กรไทยเห็นความสำคัญของการเพิ่มความปลอดภัยให้ระบบออโตเมชันยิ่งขึ้น
นอกจากความปลอดภัย ซิสโก้เชื่อว่าตลาดไฮบริดเวิร์กจะยังเป็นพื้นที่เติบโตต่อไปแม้วิกฤตโควิด-19 จะเริ่มแผ่วลง จุดนี้ซิสโก้เผยรายงานผลการศึกษา “การทำงานแบบไฮบริดทั่วโลก” โดยพบว่าโมบาย และ AI จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ขับเคลื่อนประสบการณ์ทำงานแบบไฮบริด รองรับการทำงานได้ทุกที่
“การก้าวไปสู่การทำงานแบบไฮบริดที่ประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ การให้ความสะดวกกับพนักงานในการทำงานได้ทุกที่ และการทรานส์ฟอร์มเวิร์กสเปซ องค์กรธุรกิจที่สนับสนุนกลยุทธ์การทำงานแบบไฮบริด ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และการมีส่วนร่วม จะดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้คงอยู่ และประสบความสำเร็จในระยะยาว"
ซิสโก้เชื่อว่าการทำให้พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดประสบความสำเร็จนั้น บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องแน่ใจว่าได้มอบประสบการณ์ที่มีส่วนร่วมให้พนักงาน รวมถึงความปลอดภัยไม่ว่าพวกเขาจะทำงานจากที่ใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน จากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน ธุรกิจต่างๆ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เป็นศูนย์กลางของความคิดสร้างสรรค์ และอินโนเวชัน นี่คือสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากที่สุด เพราะเรากำลังมุ่งไปสู่การทำงานที่ไม่ต้องพึ่งพาสถานที่ประจำที่พนักงานต้องไป แต่เป็น ‘ลักษณะงาน’ ที่พวกเขาทำจากสถานที่ที่พวกเขาเลือกมากกว่า
จากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่ไม่ระบุชื่อหลายล้านรายการ พบว่า มีการใช้ AI เติบโตกว่า 200% บ่งชี้ว่าผู้ใช้ต้องการประสบการณ์การประชุมออนไลน์ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยการประชุมผ่านอุปกรณ์มือถือขณะเดินทางเพิ่มขึ้น 300% ในช่วงการแพร่ระบาด แปลว่าการรักษาความปลอดภัยยังคงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเดือนกันยายน 2564 เพียงแค่เดือนเดียว พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของภัยคุกคามทางอีเมลกว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน
การเปิดตัวรายงานผลการศึกษาดัชนีการทำงานแบบไฮบริดทั่วโลก (Hybrid Work Index - HWI) นี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาพฤติกรรม และรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยี การสำรวจพบว่า พนักงานต้องการทางเลือก และสถานที่ทำงานแบบไฮบริดช่วยให้พนักงานมีความภักดีต่อองค์กรมากขึ้น เพราะ 64% เห็นด้วยว่าตัวเลือกในการทำงานจากที่บ้าน แทนที่จะต้องเข้าออฟฟิศ ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะลาออกหรืออยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนว่านายจ้างจะตระหนักถึงศักยภาพของการทำงานแบบไฮบริดหรือไม่ โดยมีเพียง 47% ที่คิดว่าบริษัทจะอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จากทุกที่แทนการทำงานในออฟฟิศ ใน 6-12 เดือนข้างหน้า
ที่น่าสนใจคือ การทำงานแบบไฮบริดส่งผลให้การประชุมขณะเดินทางพุ่งสูงขึ้น โดยก่อนการแพร่ระบาด พนักงานใช้เวลา 9% ไปกับการประชุมผ่านโมบาย แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานแบบไฮบริด ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยปัจจุบันอยู่ที่ 27%
สถิติล่าสุดพบว่า มีการประชุมเกิดขึ้นกว่า 61 ล้านครั้งทั่วโลกในแต่ละเดือนผ่านทางแพลตฟอร์ม Cisco Webex แต่มีผู้เข้าร่วมเพียง 48% เท่านั้นที่เป็นฝ่ายนำเสนอในที่ประชุม นอกจากนี้ ใน 98% ของการประชุมมีอย่างน้อย 1 คนที่เข้าร่วมประชุมแบบรีโมต จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และทำให้เกิดความรู้สึกเท่าเทียมกันกับผู้เข้าร่วมที่อยู่ในห้องประชุม
นอกจากนี้ 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าการเข้าถึงบริการเชื่อมต่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูธุรกิจหลังการแพร่ระบาด รวมถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงตำแหน่งงาน การศึกษา และบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การเข้าถึงบริการเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานให้องค์กรใดก็ได้บนโลกใบนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทสามารถสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถได้จากทุกที่ ไม่ว่าบุคลากรจะทำงานอยู่ที่ใดก็ตาม
อย่างไรก็ดี AI ไม่ได้เข้ามาทำงานแทนพนักงาน แต่ AI จะเป็นแกนหลักสำหรับการทำงานในอนาคต เพราะการใช้เทคโนโลยี AI ที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 ชี้ให้เห็นว่าบุคลากรต้องการระบบการประชุมที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม เช่น การตัดเสียงรบกวน การแปลและถอดเสียงโดยอัตโนมัติ การสร้างโพลสำรวจ และการจดจำท่าทาง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการประชุมภายในห้อง หรือบนระบบเสมือนจริงก็ตาม
ในมุมของผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี การสำรวจพบว่าเครือข่ายภายในบ้านกลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดของเครือข่ายองค์กร โดยตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาด อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำงานนอกสถานที่ (teleworker devices) มีการเติบโตถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเราเตอร์สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ขณะเดียวกัน ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นตอกย้ำความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยที่มุ่งเน้นผู้ใช้ (user-centric) เห็นได้จากในช่วงแพร่ระบาดมีความพยายามเจาะระบบเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยในเดือนกันยายน 2564 พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของภัยคุกคามทางอีเมลกว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน สถานการณ์ดังกล่าวตอกย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัยที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถเข้าถึงระบบสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัย และรอดพ้นจากการโจมตีและการหลอกลวง
ด้าน “แอปที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน” พบว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อความสำเร็จของการทำงานแบบไฮบริด เนื่องจากแอปที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ครองอันดับ 1 ในประเภทของแอปพลิเคชันที่มีการมอนิเตอร์มากที่สุดทั่วโลก โดยแอปสำหรับการทำงานร่วมกันแซงหน้าแอปพลิเคชันที่ตรวจสอบด้านประสิทธิภาพการทำงาน และแอปที่ช่วยในการเข้าถึงอย่างปลอดภัย โดยมีการใช้งานอย่างมากในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด และช่วง WFH
การสำรวจยังพบว่าเครือข่ายของผู้ให้บริการคลาวด์มีเสถียรภาพมากกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 พบว่าปัญหาระบบการทำงานล่มจากเครือข่ายของผู้ให้บริการคลาวด์เพียง 5% ขณะที่ 95% ที่เหลือล่มจากเครือข่ายของ ISP
ที่สุดแล้ว การสำรวจพบว่าพนักงานเตรียมกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ โดยขณะนี้พบว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ในออฟฟิศเพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่แล้ว การเติบโตนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอุดมศึกษา บริการด้านวิชาชีพ และธุรกิจบริการต้อนรับ