ปณท ทุ่ม 140 ล้านบาท เปิดตัวเครื่องคัดแยกตัวใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์อีเอ็มเอส หลักสี่ คาดลดต้นทุนแรงงานคนลง 20% ตั้งเป้าเพิ่มอีก 8 แห่ง ภายในปี 2566
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส ) กล่าวว่า การส่งพัสดุมีการแข่งขันสูง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อประหยัดต้นทุนและทำงานรวดเร็วขึ้น ซึ่งในอนาคต ปณท ต้องมีเครื่องคัดแยกอัตโนมัติแทนคนในทุกศูนย์ เพื่อลดการใช้คน ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพให้ส่งใด้รวดเร็วและแม่นยำ ส่วนบุคลากรด้านนี้ต้องปรับทักษะให้ทำงานบริการด้านอื่นที่ขาดแคลน เช่น งานศูนย์บริการ งานรับส่งของตามบ้าน เป็นต้น
"เราจะมีกำไรเหมือนเอกชนไม่ได้ เพราะเราต้องส่งจดหมาย ตอนนี้ส่งจดหมายอย่างเดียว ก็ขาดทุนอยู่ปีละพันล้านบาท แต่เราต้องทำ เพราะเรามีลูกค้าองค์กรเยอะ ส่งบิลต่างๆ เราเป็นรัฐ พื้นที่ห่างไกล ในที่ที่เอกชนไม่ทำ ต้นทุนสูง เราส่ง เราจึงเข้าใจ ปณท ว่ากำไรลดลงเป็นเรื่องธรรมดา"
ด้วยเหตุนี้ ปณท จึงเพิ่มศักยภาพการคัดแยกพัสดุด้วยการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณสิ่งของจากกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ซึ่งสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมทั้งเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการด้วยเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการฝากส่งสิ่งของด้วยตนเองได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า เครื่องดังกล่าวราคา 140 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่การขนส่งพัสดุเติบโตมาก โดยปกติที่หลักสี่ ต้องใช้คนคัดแยกพัสดุ 120 คน เมื่อมีเครื่องดังกล่าวจะช่วยประหยัดการใช้งานคนลงได้ 20% ซึ่งเครื่องสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน มากกว่าเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เดิมที่คัดแยกสิ่งของได้ 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน
สำหรับการติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) นับเป็นเครื่องที่ 3 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพของทั้ง 3 เครื่องแล้ว จะรองรับปริมาณงานได้มากถึงกว่า 20,000,000 ชิ้นต่อเดือน โดย ปณท มีแผนในการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 8 แห่ง คือ ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์อุบลราชธานี ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก ศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน และศูนย์ไปรษณีย์ราชบุรี ให้ครบ 11 เครื่อง ภายในปี 2566
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยซึ่งมีศูนย์ไปรษณีย์ครอบคลุมทั่วประเทศถึง 19 ศูนย์ สามารถคัดแยกสิ่งของฝากส่งจากทั่วประเทศกว่า 3,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคส่วนผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เดินหน้าอย่างไม่สะดุด สามารถส่งด่วนทุกปลายทางแม้จะมีปริมาณสิ่งของที่ต้องการจัดส่งจำนวนมาก
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยได้นำร่องติดตั้งเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้บริการประชาชนใน 7 ที่ทำการไปรษณีย์ คือ ไปรษณีย์จตุจักร ไปรษณีย์นนทบุรี ไปรษณีย์ลาดพร้าว ไปรษณีย์ภาษีเจริญ ไปรษณีย์บางขุนเทียน ไปรษณีย์บางพลี เคาน์เตอร์ไปรษณีย์แสมดำ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้บริการในรูปแบบ Self-Service ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการได้ลดระยะเวลารอคอยใช้บริการที่เคาน์เตอร์ และอำนวยความสะดวกในยุคที่ต้อง social distancing โดยปัจจุบันเครื่อง APM สามารถให้บริการฝากส่งได้ 3 ประเภท คือ EMS ไปรษณีย์ลงทะเบียน และพัสดุไปรษณีย์ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Smart Post Office ต่อไป