xs
xsm
sm
md
lg

"ชัยวุฒิ" เคลียร์ปมไทยคมก่อนรับมอบสัญญาสัมปทาน มั่นใจ NT บริหารดาวเทียมแห่งชาติได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ" เคลียร์ปมดาวเทียมก่อนรับมอบสัญญาสัมปทาน ฝากไทยคมเป็นพี่เลี้ยงอีก 2-3 เดือน ก่อนจะเดินหน้าเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรบริหารจัดการดาวเทียมร่วมกัน คาดเสร็จไม่เกินสิ้นปีนี้

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียม ดวงที่ 4 และ 6 กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) วันที่ 10 ก.ย.2564 ดีอีเอสได้มอบหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) NT บริหารทรัพย์สินและลูกค้าต่อจากไทยคมได้อย่างแน่นอนในวันที่ 11 ก.ย.2564 ซึ่งเบื้องต้นภายใน 2-3 เดือนแรก ไทยคมอาสาจะเป็นผู้ประสานงานและช่วยบุคลากร NT ในการทำงานไปก่อน ขณะที่สัญญาใหม่ที่จะทำกับไทยคมเพื่อให้ไทยคมเป็นพันธมิตรในการบริหารจัดการธุรกิจดาวเทียมนั้นยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะเสร็จภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากมีหลายรูปแบบในการเป็นพันธมิตร จึงอยู่ในช่วงการหาข้อสรุปร่วมกัน

"สิ่งที่ NT ต้องดำเนินการคือการติดต่อไปยังลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ให้มาทำสัญญากับ NT ซึ่งหากเป็นลูกค้าต่างประเทศจะมีการติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่าย ถามว่ารายได้ที่ภาครัฐจะได้จากการบริหารกิจการดาวเทียมจะมีเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุวิศวกรรมอีกเพียง 2 ปี จะตกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ลูกค้าต่างชาติเขาจะมั่นใจใช้ต่อ หรือไปใช้ของรายอื่นก็ได้ ธุรกิจนี้ไม่ได้ผูกขาด มีดาวเทียมใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ"

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า NT เอง เมื่อได้สินทรัพย์สำหรับประกอบกิจการดาวเทียมไปแล้วต้องเดินหน้าทำธุรกิจดาวเทียมต่อไป แม้ว่าดวง 4 จะหมดอายุทางวิศวกรรมในอีก 2 ปี และดวง 6 มีอายุทางวิศวกรรมอีกเพียง 8 ปี เนื่องจากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยมีดาวเทียมของตนเอง แต่จะเป็นดาวเทียมประเภทไหนกำลังอยู่ระหว่างการวางแผน อาจจะเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคง หรือ ดาวเทียมเพื่อบริการภาครัฐก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้อขัดแย้งทางกฎหมายต่างๆ ก่อนรับมอบสัญญาสัมปทาน กระทรวงดีอีเอสได้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้มีผลฟ้องร้องกันภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการลงมติให้อนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ INTUCH ถือหุ้นใน THCOM ไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ SHIN (ปัจจุบันคือ INTUCH) ใน THCOM จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ SHIN และ THCOM ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลบังคับใช้กับเอกชน หรือจะเสร็จเมื่อไหร่ มีความเสียหายต่อรัฐเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใด

รวมถึงการให้ ครม.ลงมติอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยดาวเทียมดวงนี้ไม่มีคุณสมบัติเป็นดาวเทียมในสัญญาสัมปทาน เพราะเป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ จึงเป็นดาวเทียมหลัก ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ที่ปลดระวาง แต่ที่ผ่านมา กระทรวงรับมอบและรับค่าสัมปทานมาโดยตลอด ดังนั้นจึงต้องให้ ครม.ลงมติก่อนการรับมอบครั้งนี้ เพื่อกันการถูกฟ้องร้องภายหลังเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น