xs
xsm
sm
md
lg

‘ดาต้า’ ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด?! เดลล์กระทุ้งโลก-ไทยยังน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies) เปิดผลวิจัยใหม่กระตุ้นธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง ชี้องค์กรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยควรเร่งลงมือและลงทุนทำระบบบริหารจัดการข้อมูลหรือดาต้าแบบใหม่หลังเทรนด์วิกฤต ‘ข้อมูลล้น’ เข้าขั้นโคม่า ห่วงไทยมีองค์กรที่รับมือได้ดีเพียง 5% เป็นดัชนีเตือนให้เห็นความสำคัญของการเร่งหาคนและเฟ้นกลยุทธ์รับมือให้เร็วก่อนจะสายไป 

ผลวิจัยนี้ถูกชูเป็นประเด็นหลักในงาน Dell Technologies Forum 2021 ซึ่งเดลล์ใช้เป็นเวทีประกาศจุดโฟกัสของบริษัทในหลายด้าน ผ่านโปรเจกต์ยักษ์ที่บริษัทได้ทำมาในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย การตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในสิงคโปร์อย่างธนาคารดีบีเอสที่ต้องการจัดหาระบบไอทีเพื่อลดดัชนีคาร์บอนฟุตพรินต์ การโชว์ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างวิทยาเขตอัจฉริยะ การเอื้อให้เครือโรงพยาบาลรามคำแหงทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันโดยมีเดลล์เคียงข้าง รวมถึงการเน้นย้ำว่าเดลล์จะเปิดรับพนักงานผู้หญิงให้ถึงสัดส่วน 40% ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

โฟกัสทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนเดียวที่ทำให้เดลล์ดูน่าดึงดูด เพราะล่าสุด เดลล์เพิ่งประกาศรายได้และการเติบโตของธุรกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2 ปีการเงิน 2022 ระบุว่ามีรายได้รวม 26,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 848,511 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสเดียวกันในปีงบประมาณก่อนหน้า ที่น่าสนใจคือหน่วยธุรกิจไคลเอนด์โซลูชันซึ่งรวมธุรกิจจำหน่ายพีซี โน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ต สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้น 27% จากปีที่แล้วเป็น 14,300 ล้านเหรียญ อานิสงส์หลักมาจากลูกค้าเชิงพาณิชย์ที่เป็นกลุ่มองค์กรนั้นซื้อเครื่องจากเดลล์เพิ่มขึ้น 32% สูงกว่าลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อเพิ่ม 17% 

***เดินเกมกระตุ้นดาต้าโซลูชัน 

 ในวันที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกยังคงซื้อพีซีจำนวนมาก เดลล์เลือกหันไปกระตุ้นตลาดที่เห็นว่าควรจะเติบโตได้มากกว่านี้อย่างดาต้าโซลูชัน ที่ผ่านมา เดลล์สามารถแข่งขันได้ดีจนมีส่วนแบ่งตลาดที่น่าทึ่ง แต่ในไตรมาสล่าสุดกลับเริ่มเห็นสัญญาณคงที่ในบางตลาด


Dell Technologies นั้นเป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการจัดเก็บข้อมูลโลก แม้ว่ารายได้จากธุรกิจสตอเรจจะลดลง 1% ในไตรมาสล่าสุดเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เดลล์เชื่อว่าภาวะนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เหตุผลเป็นเพราะเดลล์มีพอร์ตโฟลิโอระบบสตอเรจคลุมกว้างที่สุดในตลาด ตั้งแต่สตอเรจระดับไฮเอนด์ ระดับกลาง ระดับเริ่มต้น รวมถึงสตอเรจที่จัดเก็บข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง และสตอเรจเก็บข้อมูลทุกรูปแบบ

สถิติล่าสุดชี้ว่าเดลล์มีส่วนแบ่งตลาดสตอเรจ 32.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าสัดส่วนของเวนเดอร์ 4 เจ้าในกลุ่ม Top 5 ของตลาดรวมกัน เดลล์เผยว่าธุรกิจสตอเรจระดับกลางนั้นเติบโตมากที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมา โดยยอดขายสตอเรจระดับกลางเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่สตอเรจธุรกิจระดับไฮเอนด์ขนาดใหญ่กลับหดตัวในลักษณะเป็นวัฏจักร เป็นการชะลอตัวหลังจากช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้วเติบโตมาก จนครองส่วนแบ่งในตลาดสตอเรจระดับไฮเอนด์มากกว่า 42% ในขณะนี้

ในฐานะที่เดลล์เป็นผู้นำในตลาดอุปกรณ์เก็บข้อมูล เดลล์รู้ดีว่าโอกาสเติบโตใหญ่ที่สุดคือโซลูชันสถาปัตยกรรมข้อมูลสมัยใหม่ในยุคที่ข้อมูลหรือดาต้ากำลังเป็นความท้าทายหลักของธุรกิจทั่วโลก จากที่เคยจัดเป็นปัญหาในอันดับ 11 แต่ผลสำรวจชิ้นใหม่พบว่าขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 และมีโอกาสขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ในอนาคต

***โคม่า ‘ดาต้า’ ล้นโลก


เดลล์มอบหมายให้ฟอร์เรสเตอร์ ทำวิจัยในระดับโลกผ่านอุตสาหกรรมหลักในกลุ่มการเงิน เฮลท์แคร์ โทรคมนาคม ภาคการผลิต และบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่พฤษภาคม 2564 ด้วยหัวข้อ ‘Unveiling Data Challenges Afflicting Businesses Around The World’ การสัมภาษณ์ผู้บริหารและผู้มีอำนาจตัดสินใจและมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลข้อมูลขององค์กรจำนวน 4,036 คน จากประเทศในอเมริกาเหนือ ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เกรทเตอร์ไชน่า และละตินอเมริกา พบว่า หลายองค์กรพร้อมลงทุนแล้วแต่ก็ยังถูกข้อมูลทับตัวอยู่ดีเพราะไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างที่มากพอ และวันนี้โลกมีองค์กรไม่กี่แห่งที่สามารถจัดเป็นกลุ่ม ‘data champion’ ที่ทำประโยชน์สูงสุดจากดาต้าในมือได้

นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า บางบริษัทในการสำรวจนี้ไม่ใช่ลูกค้าของเดลล์ และการสำรวจนี้ต้องการชี้ให้เห็นภาพว่า องค์กรยุคนี้มีแผนการใช้ข้อมูลทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่สามารถจัดการให้ข้อมูลเป็นสินทรัพย์ได้

‘data champion คือบริษัทที่ 1.ทำเงินจากดาต้าที่มีได้ 2.มีเครื่องมือครบ 3.สามารถเพิ่มทักษะองค์กรและปรับให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 4.สามารถใช้ดาต้าให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด และ 5.สามารถบริหารจัดการดาต้าได้แบบเรียลไทม์ เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์ได้’ นพดลระบุ ‘การสำรวจพบว่าไทยมีองค์กรที่เป็น data champion เพียง 5% ถือเป็นการเตือนให้องค์กรไทยต้องเร่งหาคนและหากลยุทธ์ให้ได้’

เดลล์ย้ำว่า ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างใน 45 ประเทศเผยให้เห็น ‘ความย้อนแย้งของข้อมูล’ หรือ ‘Data Paradox’ ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือองค์กรธุรกิจต่างต้องการข้อมูลจำนวนมากขึ้น แต่ยังต้องดิ้นรนเพื่อหาทางดึงคุณค่าจากข้อมูลมากมายที่มีอยู่ โดย 66% ของธุรกิจเชื่อว่าองค์กรของตัวเองขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ยืนยันว่ามีการจัดการด้านข้อมูลเสมือนเป็นสินทรัพย์และให้ความสำคัญอย่างสูงกับการนำข้อมูลมาใช้ในธุรกิจทั้งหมด

การสำรวจพบว่า มากกว่าสองในสามของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ต้องการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากที่ชี้ว่าปัจจุบันมีข้อมูลมากเกินกว่าที่จะจัดการได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านไอทีไต่ระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 77% ในช่วง 3,ปีที่ผ่านมา และผู้ตอบการสำรวจคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นอีก 57%ในอีก 3 ปีข้างหน้า องค์กรส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้โมเดลแบบ on-demand จะให้ประโยชน์ด้านข้อมูล แต่มีองค์กรเพียงแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เริ่มดำเนินการในส่วนนี้

   นพดล ปัญญาธิปัตย์
สำหรับประเทศไทย แม้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์บางส่วนที่คำนวณได้นั้นไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยในกลุ่มเอเชียใต้มากนัก เช่น องค์กรไทย 67% เชื่อว่าองค์กรตัวเองกำลังขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่กลับมีตัวเลขบางชุดที่ทิ้งห่างชัดเจน ที่เห็นชัดคือการสำรวจพบว่าองค์กรไทยเพียง 12% เท่านั้นที่จัดการด้านข้อมูลเหมือนจัดการสินทรัพย์ ขณะที่ 70% ระบุว่าต้องการข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่ 73% ขององค์กรไทยพบว่าปัจจุบันมีปัญหาข้อมูลมากเกินกว่าที่จะจัดการไหว

***รู้ แต่มันทำไม่ได้


การสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 72% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นอีก 42% ในไทยช่วง 3 ปีข้างหน้า องค์กรไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้โมเดลแบบออนดีมานด์จะให้ประโยชน์ด้านข้อมูลได้มาก แต่ก็มีองค์กรเพียงแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เริ่มดำเนินการในส่วนนี้

การดำเนินการที่เริ่มไปบ้างแล้ว ได้แก่ การเอาเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มมูลค่าข้อมูล องค์กรไทยวันนี้มีการเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาจับข้อมูลผิดปกติ มีการปรับใช้ระบบจัดการดาต้าที่เรียกว่าดาต้าเลคที่เอื้อให้เกิดการแชร์ข้อมูลได้มากที่สุด และองค์กรไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีมัลติคลาวด์ ทั้งหมดนี้ทำบนระบบเศรษฐกิจแบบออนดีมานด์ (on demand economy) ซึ่งตอบโจทย์ในยุคของการระบาด โดยเฉพาะเรื่องการขยายบริการให้เร็ว ช่วยให้องค์กรบริหารข้อมูลที่เกิดขึ้นมหาศาลในขณะนั้น ทั้งหมดทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์เรียลไทม์

‘เมื่อเทียบกับทั่วโลกจะพบว่าทักษะด้านบริหารจัดการข้อมูลขององค์กรไทยยังตามหลังประเทศอื่นอยู่ หากดูที่กลุ่ม data champion จะเห็นว่าไทยจำเป็นต้องปรับตัวเองเพื่อสร้างความได้เปรียบให้มากขึ้น แต่เชื่อว่าไทยกำลังพยายามปรับ โดยเฉพาะด้านการรับรู้หรือ data literacy วันนี้องค์กรไทยพยายามสร้างทักษะด้านข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งจะมีโอกาสทำให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำในอนาคต’


เมื่อถามว่าเดลล์ต้องการต่อยอดหรือวางเป้าหมายทางธุรกิจจากการสำรวจนี้อย่างไร? ‘นพดล’ ระบุว่า การสำรวจนี้เป็นการต่อยอดจากจุดเริ่มต้นที่เดลล์เริ่มทำการสำรวจเมื่อปี 2016 บนจุดประสงค์แรกเริ่มคือต้องการสร้างดัชนีชี้วัดในตลาดเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการมองหาองค์กรที่พร้อมจะปรับเป็นบริษัทดิจิทัลเต็มรูปแบบ งานวิจัยล่าสุดจึงเป็นการต่อยอดให้เห็นว่าดาต้าเป็นจุดท้าทายต่อการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมากขึ้นตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยถูกจัดเป็นความท้าทายอันดับ 11 ปีนี้ดาต้ามีความท้าทายมากขึ้นเป็นความท้าทายอันดับ 3 ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ในไม่กี่ปีนับจากนี้

‘เดลล์ในฐานะที่เป็นผู้นำความคิดเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน บริษัทต้องการสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือให้ลูกค้ามีเส้นทางเดินไปได้ และเราต้องการบอกให้ลูกค้าทราบว่าอะไรเป็นส่วนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล ลูกค้าจะรู้ว่าต้องเตรียมทักษะและเตรียมใช้โมเดล as a service ต้องดึงข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด’ สิ่งที่เดลล์จะโฟกัสในประเทศไทย คือการมองเรื่องการจัดลำดับว่าไทยมีองค์กรที่เป็น data champion เพียง 5% เพราะองค์กรไทยยังไม่มีวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับดาต้า และมีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่ตั้งบุคคลมานั่งตำแหน่งประธานฝ่ายข้อมูลของบริษัท ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล หรือ data-driven company

เดลล์ย้ำอีกว่า การแก้ปัญหาให้ ‘ข้อมูลไม่ล้น’ คือองค์กรต้องมีทัศนคติ หรือ mind set ต่อการเก็บข้อมูลที่ดี เนื่องจากบางครั้งเก็บข้อมูลมาแล้วไม่มีประโยชน์ เบื้องต้นต้องดูที่นโยบายการเก็บและการบริหารจัดการเพื่อเปิดให้ข้อมูลสามารถแบ่งปันระหว่างทุกหน่วยงานในองค์กร อีกด้านที่ต้องมีคือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ data scientist ที่ต้องมีทักษะการดูแล และลดความซ้ำซ้อนในข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการบริหารจัดการ เรียกว่าต้องมีทั้งวัฒนธรรมและทักษะการใช้เทคโนโลยีช่วย

ที่สุดแล้ว เดลล์สรุปในเวทีฟอรัมว่าองค์กรต้องมองวิถีการแก้ปัญหาข้อมูลล้นเป็นการเดินทาง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดขึ้นได้ในทันที องค์กรจึงต้องคิดค้นวิธีการและความเข้าใจ ให้ทันกับยุคที่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลจำนวนมาก ไม่อย่างนั้น โลกอาจรู้จักสำนวนใหม่ว่า ‘ดาต้า’ ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด


กำลังโหลดความคิดเห็น