xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสามารถไตรมาส 2 รายได้ 1,936 ล้านบาท หลังเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘กลุ่มสามารถ’ รายได้ไตรมาส 2 เติบโต 3.61% จากรายได้ 1,936 ล้านบาท ส่งสัญญาณบวกครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการที่สามารถดิจิทัล เข้าเป็นพันธมิตรกับโทรคมนาคมแห่งชาติให้บริการดิจิทัลทรังก์เรดิโอ

โดยในช่วงไตรมาส 2 สามารถเทลคอมได้มีการลงนามในสัญญาโครงการต่างๆ กับลูกค้าหลายราย เช่น สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการกองทัพไทย การนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการบำรุงรักษามิเตอร์และอุปกรณ์ประกอบในระบบ AMR กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามสัญญาโดยมีมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 1,037.79 ล้านบาท

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ป กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชา ภายใต้บริษัท CATS ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้แก่กลุ่มสามารถอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 63 พบว่า กลุ่มสามารถมีรายได้รวม 1,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.61 เปอร์เซ็นต์ และมีผลขาดทุนสุทธิ 113 ล้านบาท ลดลงกว่า 43 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันปีก่อน

“ผลประกอบการดังกล่าวสะท้อนว่า แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่ทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 2 บริษัทยังคงสามารถสร้างรายได้เพิ่มและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อพิจารณาโอกาสในการประมูลงานและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตแล้ว คาดว่าผลประกอบการรวมของกลุ่มสามารถจะขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง”

โดยจะมีการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่เพิ่มเติม เช่น โครงการ Direct Coding (โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย) ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ติดตั้งระบบรหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ในโรงงานผลิตเครื่องดื่มไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซนต์ และจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 นี้

สำหรับสายธุรกิจ ICT ภายใต้ บมจ.สามารถเทลคอม มีรายได้เฉพาะไตรมาส 2 รวม 1,608 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 515 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 และมีกำไรสุทธิ 30.8 ล้านบาท พลิกฟื้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมครึ่งปีแรกมีการลงนามสัญญาไปแล้วกว่า 1,900 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2 มีมูลค่างานในมือ (Backlog) รวมกว่า 5,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานหลายโครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 5 พันล้านบาท เช่น โครงการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การนิคมอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น และจะมีการต่อยอดโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ภายในปีนี้อีกประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในสิ้นปี 2564 จะมี Backlog ไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท

ด้านธุรกิจ Digital Services ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของ บมจ.สามารถดิจิตอล ก็มีความคืบหน้าในการขยายฐานผู้ใช้บริการระบบโทรคมนาคม Digital Trunk Radio อย่างชัดเจน โดยนอกจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นผู้ใช้บริการนำร่องแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรที่ให้ความสนใจในการใช้ระบบการสื่อสาร Digital Trunk Radio เพื่อเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารเฉพาะกิจ ยิ่งไปกว่านั้น สามารถดิจิตอลยังเตรียมยกเครื่องบริการ Horoworld ให้สามารถตอบสนองและเข้าถึงผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเปิดตัว Mobile Application ใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเสริมสร้างรายได้ประจำให้แก่บริษัทในอนาคต

“เนื่องจากกลุ่มสามารถมีพอร์ตธุรกิจที่หลากหลาย และมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน จึงสามารถประคับประคองธุรกิจในภาวะวิกฤตที่กำลังเผชิญ โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าเมื่อเราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังสถาณการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการเดินทาง ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อเวลามาถึง”


กำลังโหลดความคิดเห็น