รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบให้ กฟภ.กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนใน 7 แผนงาน กรอบวงเงินรวม 13,395 ล้านบาท พร้อมอนุมัติให้ขสมก.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803 ล้านบาท
วันนี้ (10 ส.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 13,395 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ
สำหรับรายละเอียดของ 7 แผนงานของ กฟภ.ภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2564 ประกอบด้วย 1. แผนงานปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสถานีไฟฟ้าปี 2564 จำนวน 109 แห่ง วงเงินรวม 2,590.88 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 1,943 ล้านบาท และเงินรายได้ 647.88 ล้านบาท 2. แผนงานปรับปรุงอุปกรณ์ควบคุมในระบบจำหน่ายระยะที่ 1 จำนวน 2,890 ชุด วงเงินรวม 144.23 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 108 ล้านบาท และเงินรายได้ 36.23 ล้านบาท
3. แผนงานจัดหาอุปกรณ์/ป้องกัน/ตัดตอน/อุปกรณ์ประกอบในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้า และอุปกรณ์สำรองสำหรับสายเคเบิลใต้ดิน/ใต้น้ำ วงเงินรวม 1,777.17 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 1,333 ล้านบาท และเงินรายได้ 444.71 ล้านบาท
4. แผนงานจัดหายานพาหนะของกฟภ.ปี 2564-2566 จำนวน 252 คัน วงเงินรวม 823.30 ล้านบาทเป็นเงินกู้ในประเทศ 617 ล้านบาท และเงินรายได้ 206.30 ล้านบาท 5. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของ กฟภ.ปี 2564 วงเงินรวม 1,261.45 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 946 ล้านบาท และเงินรายได้ 315.45 ล้านบาท
6. แผนงานจัดหามิเตอร์ Electronic สับเปลี่ยนทดแทนมิเตอร์จานหมุนจำนวน 4.5 ล้านเครื่อง วงเงินรวม 7,664.13 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 5,748 ล้านบาท และเงินรายได้ 1,916.13 ล้านบาท และ
7. แผนงานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ดำเนินการใน 74 จังหวัด วงเงินรวม 3,602.56 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 2,700 ล้านบาท และเงินรายได้ 902.56 ล้านบาท รวม 7 แผนงานใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 17,864.26 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 13,395 ล้านบาท และเงินรายได้ 4,469.26 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.718 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนดซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้
นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ฉบับปรับปรุงใหม่ อยู่ระหว่างการทบทวนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2565 ขสมก.มีภาระที่ต้องชำระหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ โดย ณ วันที่ 31 มกราคม 2564 ขสมก.มีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 127,797.432 ล้านบาท
โดย ขสมก.ได้ทำประมาณการเงินสดรับ-จ่ายในปีงบประมาณ 2565 คาดว่า จะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือจำนวน 32,926.490 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ดังนั้น ขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 32,926.490 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้คืนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้จำนวน 25,122.772 ล้านบาท ซึ่งขสมก.ได้เสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของ ขสมก.ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.718 ล้านบาท ตามที่เสนอให้ครม.อนุมัติ แยกเป็น ชำระค่าเชื้อเพลิง 2,867.033 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,667.085 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,269.600 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินของ ขสมก.ครั้งนี้จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้ปีละ 232 ล้านบาท