หลังจากใช้ระยะเวลา 1 ปี ในติดตั้งเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ถึงช่วงเวลาที่โอเปอเรเตอร์จะเริ่มนำจุดเด่นสำคัญของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล
โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการติดตั้ง และนำโครงสร้างพื้นฐาน 5G ไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน AIS 5G ให้บริการได้ครอบคลุมแล้วถึง 95% เปิดโอกาสให้โรงงานกว่า 3,800-4,000 โรงงานสามารถนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้งานได้
ที่สำคัญคือเป็นการให้บริการที่ครอบคลุมในทุกช่วงคลื่นความถี่ตั้งแต่ 700 MHz ที่เน้นความครอบคลุม รองรับการเชื่อมต่อได้ปริมาณมหาศาล ไล่ขึ้นมาเป็นคลื่นความถี่กลาง 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นหลักในการเชื่อมต่อดีไวซ์ และเครือข่ายภายในต่างๆ จนถึงคลื่นความถี่สูงระดับ 26 GHz ที่เหมาะกับการนำมาใช้งานในแง่ของโรงงานอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ และระบบโลจิสติกส์ โดยใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติต่างๆ ในการสั่งงาน
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ในแง่ของเทคโนโลยีเมื่อมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เอไอเอสจึงเข้าไปมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้แก่ประเทศไทย
‘พันธกิจของ AIS Business 5G คือมีความมุ่งมั่นส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมไทย ผ่านการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล และโซลูชันร่วมกับพันธมิตร ด้วยทีมงานที่ไว้ใจได้ในความสามารถระดับมืออาชีพ’
จากมุมมองที่ AIS Business วางไว้ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มในการเชื่อมพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในฝั่งของดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไอซีที IoT ไซเบอร์ซิเคียวริตี คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ โมบิลิตี และ 5G เข้ากับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานผลิต ไฟแนนซ์ อสังหริมทรัพย์ รถยนต์ โลจิสติกส์ รีเทล พลังงาน และเฮลท์แคร์
จึงเป็นที่มาของการที่ AIS Business ประกาศความร่วมมือกับ Omron Mitsubishi Electric และ TKK ในการนำโซลูชัน Industry 4.0 มาตอบโจทย์ภาคการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) โรงงานอัจฉริยะ (e-Factory) และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้กลายเป็น 5G Total Industrial Solution ที่สมบูรณ์ที่สุด
‘ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีของคลาวด์ กับอุตสาหกรรมที่เริ่มพัฒนาขึ้นมาได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนการปฏิวัติของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่จะนำเทคโนโลยีที่จะผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน’
AIS Business 5G จะเข้าไปดูแลตั้งแต่ในส่วนของรูปแบบการเชื่อมต่อ ทั้งเครือข่ายภายใน (Private Network) การแบ่งเครือข่ายตามการใช้งาน (Network Slicing) เครือข่ายไร้สายความเร็วสูง (Fixed Wireless Access) ผ่านโครงข่ายสื่อสารตั้งแต่ 3G 4G Nb-IoT ไฟเบอร์ และไวร์เลส ไปเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ แพลตฟอร์ม และโซลูชันของพันธมิตร พร้อมการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ หรือดาต้าเซ็นเตอร์ของ AIS ที่ให้การดูแลเพิ่มเติมในส่วนของไซเบอร์ซิเคียวริตีเพิ่มเติมด้วย
อย่างความร่วมมือกับทาง OMRON จะเข้าไปตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยการออกแบบสายการผลิตแบบยืดหยุ่น (Layout-free Production Line) ที่สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตได้ ซึ่งถือเป็นคีย์หลักของธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการโซลูชันที่มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มการผลิตให้เร็วขึ้น และตอบสนองตามความต้องการของตลาด
ขณะเดียวกัน ยังสามารถปรับใช้เทคโนโลยีให้ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อย่างการสอบย้อนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (Traceability) และระบบซ่อมบำรุงเชิงรุก (Predictive Maintenance) รวมถึงการนำเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มความแม่นยำ ลดเวลาสิ้นเปลืองการใช้แรงงานทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลากับการทำงานด้านอื่นได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เป็น ‘หุ่นยนต์รถลำเลียงอัจฉริยะ’ Autonomous Mobile Robot (AMR) ที่ใช้เผนที่ในการทำงาน โดยไม่ต้องตีเส้น และการตรวจจับด้วยเซ็นเซอร์จากอุปกรณ์ หรือกล้องความละเอียดสูงในการเก็บข้อมูลระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อใช้คาดการณ์ความผิดปกติ เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและแก้ไขก่อนเกิดปัญหาต่างๆ
ศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมาในภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการโรงงานอัจฉริยะ และโรงงานอัตโนมัติมากขึ้น โดยเฉพาะการนำหุ่นยนต์ และการเก็บข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับ AI ที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ตลาดนี้ยังมีการเติบโตมากกว่า 40% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท
‘ภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้งานอย่างเข้มข้น เพราะต้องการสายการผลิตที่มีความแม่นยำ มีโซลูชันที่ลดต้นทุน และเพิ่มการผลิตให้เร็วขึ้น ทำให้ใช้ต้นทุนที่ต่ำลงได้’
โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรไปทั่วโลก ทำให้เป็นความท้าทายของภาคการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ โรงงานผลิตเหล่านี้ถ้ามีความยืดหยุ่นก็จะสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้ตอบรับความต้องการของตลาดได้
ไม่ใช่แค่สายการผลิตเท่านั้นที่สามารถประยุกต์นำความเร็ว ความเสถียร และความหน่วงต่ำของ 5G มาใช้งาน อีกโซลูชันที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ การควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ Factory Automation ที่นำความสามารถของ IoT มาใช้ในการส่งข้อมูล เพื่อให้ควบคุมการทำงานระยะไกลได้อย่างสมบูรณ์
วิเชียร งานสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกมาซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเทคโนโลยี พร้อมกับโซลูชันใหม่ๆ เข้ามาเสริมศักยภาพให้สามารถเป็นผู้นำได้อย่างแข็งแกร่ง
‘จริงๆ แล้วมิตซูบิชิฯ เตรียมการมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ได้มาเร่งให้เกิดการนำระบบควบคุมระยะไกลมาใช้งานเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสระหว่างพนักงานในโรงงานผลิตต่างๆ มาใช้งานเร็วขึ้น’
ทั้งนี้ ในระบบของการควบคุมระยะไกลจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ 1.การตรวจสอบระยะไกล ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบ ควบคุมการทำงานจากระยะไกลได้ ถัดมาคือ 2.การบำรุงรักษาระยะไกล ช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันที 3.การพัฒนาโปรแกรมจากระยะไกล ทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่การผลิตในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และสุดท้ายคือ 4.การบริการระยะไกล ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที
‘AIS 5G จะเข้ามาช่วยให้สามารถติดตั้ง และนำระบบ e-Factory มาใช้งานได้อย่างเสถียร ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญของ TKK ทำให้สามารถควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงานชั้นนำได้’
ธนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การสร้างความร่วมมือแบบ End-to-End กับพันธมิตรต่างๆ เพื่อพัฒนาโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบนเป้าหมายในการทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกต่อไป จากความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี ระบบ และโครงข่ายอัจฉริยะ ให้พร้อมเปลี่ยนแปลง และปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยโซลูชันสินค้า และบริการที่ใช้งานได้จริง