xs
xsm
sm
md
lg

“คอปเปอร์ไวร์ด” ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ IBIZ Plus

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข
คอปเปอร์ไวร์ด (CPW) ต่อยอดธุรกิจ ประกาศซื้อกิจการ IBIZ Plus รุกตลาดร้านโทรศัพท์มือถือ-อุปกรณ์เสริม มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จ่ายเป็นเงินสดงวดแรกเดือน ต.ค.นี้ จำนวน 200 ล้านบาท และออกหุ้นเพิ่มทุน PP ไม่เกิน 31.57 ล้านหุ้น หรือ 5% ในราคาตลาด ยันไม่มีผลต่อการบริหารงานของบริษัท เตรียมชงผู้ถือหุ้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย และเพิ่ม Product Mix ในมือ ภายใต้แบรนด์ AIS, Telewiz, Buddy, Samsung และ Xiaomi ในประเทศไทย เสริมจากการเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่สินค้า Apple

นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ CPW เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าขยายธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลซึ่งมีความต้องการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และสินค้าเทคโนโลยี ตอบสนองชีวิตยุคใหม่ และความก้าวหน้าของอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมไปถึง อุปกรณ์สื่อสารซึ่งอยู่ในเทรนด์การเติบโตของโลก จึงเข้ามาลงทุนต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เสริมจุดแข็งในการเป็นผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์จากแบรนด์ชั้นนำได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

ตามแถลงการณ์ของคอปเปอร์ไวร์ด พบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติและให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติการรับโอนกิจการและทรัพย์สินบางส่วนของบริษัท ไอบิส พลัส เน็ทเวอร์ค จำกัด (IBIZ Plus) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการร้านค้าสินค้าโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ประกอบด้วย กิจการร้านค้าภายใต้แบรนด์ AIS Shop, AIS Telewiz, AIS Buddy, Samsung และ Xiaomi รวมแล้วไม่เกิน 56 ร้าน รวมถึงทรัพย์สินของกิจการร้านค้า ได้แก่ สินค้าคงเหลือ สินค้าเพื่อทดลอง สิ่งตกแต่งกิจการร้านค้าและทรัพย์สินอื่นใดที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการร้านค้า ตลอดจนธุรกิจค้าส่งที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้คำนวณราคาค่าตอบแทนการรับโอนกิจการฯ ตามค่าเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิหลังหักภาษี (Net Profits after Tax) ที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างปี 2565 ถึง 2567 ของกิจการฯ เมื่อคำนวณแล้วค่าตอบแทนทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

"บริษัทฯ จะชำระค่าตอบแทนการโอนกิจการฯ ให้แก่ IBIZ Plus ด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทและ/หรือเงินสด โดยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะเสนอขายให้แก่ IBIZ Plus เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนรวมกันจะไม่เกิน 31,578,900 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ IBIZ Plus ทั้งหมดแล้ว ในราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่เท่ากับราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ของหุ้นสามัญของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย้อนหลัง 15 วันทำการติดต่อกันก่อนหน้าวันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติกำหนดราคาเสนอขายหุ้น" แถลงการณ์ระบุ


สำหรับ IBIZ Plus เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงได้รับสิทธิเป็นตัวแทนจำหน่ายและบริหารร้านค้าภายใต้แบรนด์ AIS Shop, AIS Telewiz, AIS Buddy, Samsung และ Xiaomi ในประเทศไทย โดยมี นายบุญชัย อาศิรวาทวณิชย์ และนายณัฏฐ์ณภัทร อาศิรวาทวณิชย์ เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารกิจการทั้งหมดของ IBIZ Plus และ/หรือผู้ก่อตั้ง ซึ่งเมื่อบริษัทรับโอนกิจการฯ เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ก่อตั้งจะบริหารจัดการกิจการฯ ร่วมกับตัวแทนที่บริษัทแต่งตั้งต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี นับจากวันที่บริษัทได้ชำระค่าตอบแทนทั้งหมดครบถ้วน

ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทดังกล่าว IBIZ Plus จะถือหุ้นของบริษัทไม่เกิน 31,578,900 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน อนึ่ง ในการทำรายการครั้งนี้จะไม่มีการให้สิทธิ IBIZ Plus เสนอชื่อบุคคลใดเข้ามาเป็นกรรมการ และ/หรือผู้บริหารของบริษัท ฉะนั้น IBIZ Plus จึงไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท โดยมติดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/64 ในวันที่ 14 ก.ย.64 นี้

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายกลุ่มสินค้าแบรนด์ Apple สินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และกลุ่มสินค้า Mobile Accessories ของบริษัท ไปในร้านค้า AIS, Samsung และ Xiaomi ที่บริษัทจะรับโอนมา เพิ่มยอดจากการขายกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ Samsung และอื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เพิ่มรายได้จากการให้บริการต่างๆ สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบของ AIS เช่น การรับชำระค่าบริการ การเติมเงิน ซึ่งมีผลตอบแทนที่ดีที่จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทให้เพิ่มมากขึ้น

"เพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ซื้อลดลง หรือได้ส่วนลด เงินคืนเพิ่มขึ้น เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดใหม่ๆ รวมถึงการขายส่งสินค้าประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่บริษัทไม่เคยมีมาก่อน ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ Apple เพียงรายเดียว และสามารถเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ ที่บริษัทยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ บริการ ประเภทร้านค้า และช่องทางการจำหน่ายที่ขยายไปในภูมิภาคหรือในต่างจังหวัด” คอปเปอร์ไวร์ด ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น