xs
xsm
sm
md
lg

Sea Group พบร้านค้าออฟไลน์อายุเกิน 10 ปี ทำยอดขายอีคอมเมิร์ซเฉลี่ย 28% เท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย)
Sea Group เผยผลการสำรวจอินไซต์ผู้ค้าออนไลน์ 5 กลุ่มในภูมิภาคอาเซียน สะท้อน ‘ความหลากหลาย’ บนโลกอีคอมเมิร์ซไทย พร้อมมุ่งผลักดันผู้ประกอบการไทยปรับตัวสู้สถานการณ์โควิด-19

น.ส.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวถึงภาพรวมผู้ประกอบการ SMEs และผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทยว่า Sea (ประเทศไทย) เน้นนำอินไซต์จากผลสำรวจภูมิภาค มาต่อยอดสู่แผนส่งเสริมศักยภาพคนไทยด้วยอีคอมเมิร์ซ โดย Sea (ประเทศไทย) และ Shopee (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ คำนึงถึงการออกแบบโปรแกรมส่งเสริมและสนับสนุนคนไทยที่มีความเฉพาะตัวสูงและต้องการการสนับสนุนที่ต่างกันออกไป

"โดยเฉพาะกลุ่ม ‘Hidden Entrepreneur’ อย่าง The Homemaker และ The Student ที่เพิ่งกระโดดเข้ามาหารายได้จากอีคอมเมิร์ซ โดยเราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วนเผื่อผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ"

กลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’ นี้เป็นกลุ่มที่ Sea (Group) พบในการสำรวจชื่อ “Online Seller Archetypes” ที่ผ่านมา Sea (Group) เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) สำหรับผลการสำรวจ Online Seller Archetypes มีเนื้อหาเน้นย้ำที่อินไซต์ว่าบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้น จากกระแสดิสรัปชันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ค้าออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร

ผลสำรวจจากผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ราว 42,000 ราย จากทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชี้ว่า รูปแบบการรับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมาใช้งานมีความหลากหลาย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ The Homemaker, The Student, The Never-too-late, The Moonlighter และ The Highly-digital ซึ่งใช้งานอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเสริมศักยภาพธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่สนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience & Adaptability) ในผู้ค้าออนไลน์หลากหลายกลุ่มในสังคมวงกว้าง

กลุ่มแรกคือ The Homemaker Entrepreneurs (กลุ่มแม่บ้าน-พ่อบ้าน) Sea อธิบายว่าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้มีผู้ค้าออนไลน์กลุ่ม The Homemaker จำนวนไม่น้อย โดยเกือบทั้งหมดเป็นคุณแม่ ในช่วงวัย 30 ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลบ้าน และความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวจำนวน 4 คน โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ราว 60% ของ The Homemaker ระบุว่า ‘การนำรายได้มาใช้ในการดูแลครอบครัว’ เป็นแรงจูงใจหลักในการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทำธุรกิจ ได้แก่ ‘ความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน’ ซึ่งทำให้ The Homemaker สามารถดำเนินธุรกิจและดูแลครอบครัวควบคู่กันไปได้ โดยไม่ต้องเสียสละอย่างใดอย่างหนึ่งไป โดยเฉพาะในช่วงที่จำเป็นต้องรักษาระยะห่าง ซึ่งทั้งพ่อแม่และลูกๆ ถูกจำกัดพื้นที่ให้ทำงานและเรียนอยู่ในบ้าน ดังนั้น แม่บ้านจำเป็นต้องทำ 2 หน้าที่ในเวลาเดียวกัน ทั้งในบทบาท ‘ผู้ประกอบการ’ และ ‘ผู้ดูแลลูกและสมาชิกครอบครัว’


กลุ่มที่ 2 คือ The Student Entrepreneurs (กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา) ได้แก่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในวัยเรียนที่ค้าขายออนไลน์ควบคู่ไปกับการเรียน มีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์เป็นรายได้หลักและนำรายได้ไปใช้เพื่อการศึกษาในอัตราที่สูงโดดเด่นจากกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน หากเปรียบเทียบกับผู้ค้าออนไลน์กลุ่มอื่นๆ แล้ว The Student มีเงินออมส่วนบุคคลค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังต้องเข้าเรียนเต็มเวลาตามที่หลักสูตรการศึกษานั้นๆ กำหนด จึงทำให้มี ‘ความอ่อนไหวทางด้านการเงินและปัญหาการจัดการเวลา’ สูง

ดังนั้น อีคอมเมิร์ซจึงเข้ามาเป็นโซลูชันที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ทดลองทำการค้าขายตามไอเดียและความสร้างสรรค์ของตนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีต้นทุนต่ำและระดับความเสี่ยงที่ต่ำ นับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ The Student ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการบนโลกอีคอมเมิร์ซได้ง่ายยิ่งขึ้น


กลุ่มที่ 3 คือ The Never-too-late Entrepreneurs (กลุ่มผู้ประกอบการมืออาชีพจากโลกออฟไลน์) ผู้ค้ากลุ่ม The Never-too-late คือผู้ประกอบการที่เดิมทำธุรกิจอยู่บนช่องทางออฟไลน์ และมีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การทำธุรกิจที่ยาวนานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อมก็กดดันให้กลุ่ม The Never-too-late ต้องเข้ามาใช้อีคอมเมิร์ซอย่างกะทันหัน ไม่เพียงเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีอยู่ แต่ยังต้องการหาโอกาสขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ๆ อีกด้วย


แม้ว่า The Never-too-late จะมีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การทำงานจริงเป็นจุดแข็ง แต่ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน คือ การที่พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ค้าออนไลน์กลุ่มอื่นๆ สถิติจากรายงานชี้ว่าสัดส่วนยอดขายบนอีคอมเมิร์ซโดยเฉลี่ยของผู้ค้ากลุ่มนี้อยู่ที่ 28% เท่านั้น ยังเติบโตได้อีกมาก หาก Reskill-Upskill ผู้ประกอบการและพนักงาน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จาก Digital Tools ได้เต็มที่มากขึ้น

กลุ่มที่ 4 คือ The Moonlighter Entrepreneurs (กลุ่มทำอาชีพเสริมคู่งานประจำ) เป็นกลุ่มพนักงานประจำที่ขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซเป็นอาชีพเสริม โดยมองว่าอีคอมเมิร์ซใช้งานง่าย ช่วยให้จัดการร้านค้าและคำสั่งซื้อได้ตามเวลาที่สะดวก และต้นทุนต่ำ จึงตัดสินใจนำเข้ามาใช้เป็นโซลูชันในการรักษาระดับความพึงพอใจของทั้งนายจ้างและลูกค้าบนโลกออนไลน์ เนื่องจากงานประจำคือความมั่นคง ส่วนอีคอมเมิร์ซเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลัก ยิ่งไปกว่านั้น 2 ใน 3 ของ The Moonlighter เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาจึงมีมุ่งมั่นและจริงจังกับการทำธุรกิจส่วนตัวบนอีคอมเมิร์ซ กลุ่ม The Moonlighter มีความสามารถในการใช้ Digital Tools เป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากเติมความรู้ในการบริหารธุรกิจเข้าไปก็จะทำให้มีศักยภาพการขยายธุรกิจสูง


กลุ่มที่ 5 คือ The Highly-Digital (กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มืออาชีพ) หมายถึงกลุ่มคนที่สังคมมักจะนึกถึงเมื่อเราพูดคำว่า “พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์” โดยพวกเขาขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว มีความแอ็กทีฟบนอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มสูง บริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างยอดขายจากช่องทางอีคอมเมิร์ซได้มากกว่า 50% ของยอดขายทั้งหมด นับเป็นกลุ่มที่มีทักษะการทำธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลสูงที่สุดในกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ทั้งหมด โดยกลุ่ม The Highly-Digital มักเป็นคนช่วงอายุ 30 ปี โดย 66% ระบุว่าต้องการหารายได้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และอีก 57% ระบุว่าต้องการนำรายได้ไปลงทุนต่อเพื่อขยายธุรกิจบนอีคอมเมิร์ซ


"นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาเร่งกระบวนการ Digital Transformation ให้เร็วขึ้น หลายๆ ประเทศมีความพยายามที่จะสนับสนุนและส่งเสริม SMEs ให้อยู่รอดด้วยการใช้ Digitalization ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการเยียวยาหรือส่งเสริมศักยภาพ SMEs แบบ One-size-fit-all อาจไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากธรรมชาติของผู้ค้าออนไลน์มีความหลากหลาย ทั้งด้านปูมหลัง แรงจูงใจ และการนำอีคอมเมิร์ซไปปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม ‘Hidden Entrepreneur’ อย่าง The Homemaker และ The Student ที่แตกต่างไปจากภาพผู้ประกอบการในความคิดของสังคมส่วนใหญ่อย่างชัดเจน" Sea ระบุในแถลงการณ์ผลสำรวจ

สำหรับ ‘Hidden Entrepreneur’ Sea เชื่อว่าหลายคนอาจไม่มีวันผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ หาก ‘Barrier to Entry’ ไม่ถูกลดทอนลงมาอย่างมีนัยสำคัญด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งนี้เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด แต่พวกเขาจำเป็นต้องทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับพวกเขา ได้แก่ ความเป็นอยู่ของครอบครัวและการศึกษา

สำหรับ Sea (ประเทศไทย) ผู้บริหารระบุว่าต้องการต่อยอดการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Nation อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะต่อยอดโครงการจากปีก่อนๆ เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษาและอาชีพของเยาวชนยุคดิจิทัลแล้ว ในปี 2564 นี้ เรามุ่งส่งเสริมศักยภาพคนไทยด้วยอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นเครื่องมือดิจิทัลที่เข้าถึงได้ในต้นทุนต่ำและสามารถนำไปสร้างรายได้ได้จริง

“เราจะทยอยเปิดตัวโครงการเรื่อยๆ โดยโครงการหลักๆ ที่เปิดตัวไปในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ โครงการ “E-commerce 101 powered by Shopee Bootcamp” ที่นำหลักสูตรอีคอมเมิร์ซแบบเข้มข้นไปผนวกกับหลักสูตรของ Thammasat Business School เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านอีคอมเมิร์ซขั้นสูงสู่นักศึกษาซึ่งจะกลายมาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของประเทศ พร้อมส่งต่อความรู้และทักษะด้านอีคอมเมิร์ซขั้นพื้นฐานสูงสู่วิสาหกิจชุมชน และกระตุ้นให้เกิดการปรับการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนในยุคดิจิทัล และเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เราได้เปิดตัว โครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ โดยจับมือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นพันธมิตรรายแรก เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ปลูกทักษะและวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) และทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Employability Skills) เตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานแห่งอนาคต ไม่เพียงเพื่อช่วยยกระดับทักษะดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาสายอาชีพ แต่เรายังหวังว่าจะช่วยให้แต่ละครอบครัวมีรายได้ที่มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณมณีรัตน์กล่าวปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น