xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” ไฟเขียวแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ เพิ่มประสิทธิภาพงานปราบเฟกนิวส์ กสทช.เปิดช่อง 1200 ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก. ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางโซเชียล ครั้งที่ 4 เคาะแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เตรียมมัดรวมมาตรการทางปกครอง-ภาษี-สังคม เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาและปราบปรามข่าวปลอม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 4/2564 ที่ประชุมได้พิจารณาการแต่งตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์” ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมด้านการปกครอง ภาษี และสังคมอีกด้วย

โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการทำมาตรการทางปกครอง มาตรการทางภาษี และมาตรการสังคมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ อีกทั้งสนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และมีการประสานกับศูนย์ต่อต้านประจำแต่ละกระทรวงอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานสถิติการดำเนินงานระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.64 โดยจากการที่กระทรวงดิจิทัลยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ

ขณะที่ผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามในช่วงเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ตรวจสอบการกระทำความผิด และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 35 ยูอาร์แอล

“อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอม คือความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อยากให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามายังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยสามารถแจ้งมาได้ที่บัญชีไลน์ทางการของศูนย์ฯ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกจำนวน 2,409,640 บัญชี ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันต่อต้านข่าวปลอมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ไลน์ @antifakenewscenter เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม” นายชัยวุฒิ กล่าว

***กสทช.หนุนนโยบายจัดการ Fake News

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดการเรื่องข่าวปลอม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสับสนส่งผลกระทบต่อสังคมในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่นั้น

สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมจากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ บิดเบือน หรือจงใจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากหลายฝ่าย จนส่งผลกระทบต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล สำนักงานฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายในการจัดการข่าวปลอม (Fake News) ของรัฐบาล โดยสำนักงานจะตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ทันที และจะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำผิดเพราะข่าวปลอมดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้สังคม

อยากขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบที่มาของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะเชื่อ หรือเผยแพร่ไปยังคนรอบข้าง หรือสาธารณะ เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ข่าวสารที่มีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจทำให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้า และหากประชาชนพบเห็นข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และสำนักงาน กสทช. แต่ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง หรือพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ขอให้สอบถามและแจ้งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงานที่ Call Center ของสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทร.ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) เพื่อสำนักงานจะได้ดำเนินการจัดการกับข่าวปลอม และผู้สร้างข่าวปลอมนั้นต่อไป

“สำนักงาน กสทช. พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการจัดการข่าวปลอมที่สร้างความเสียหายให้สังคม ก่อให้เกิดความสับสนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้” นายไตรรัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น