พิษโควิด-19 ทำธุรกิจบริการการเงิน-เช่าซื้อแห่ปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคแบบใหม่ "ซีเนียร์ คอม” พบหลายรายซุ่มเงียบอัปเกรดระบบทันสมัยล่าสุด เตือนใครไม่ลงทุนและยังใช้เทคโนโลยีล้าสมัยอาจมีสิทธิสูญพันธุ์
นายสมเกียรติ อึงอารี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีเนียร์ คอม เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อและการใช้ซอฟต์แวร์ขององค์กรในไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ด้าน Financial Software Service หรือซอฟต์แวร์ทางด้านบริการการเงิน ด้วยสถานการณ์ที่กระทบทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของธุรกิจเช่าซื้อและจำนำทะเบียน มีความต้องการการบริการที่รวดเร็วและพึงพอใจมากที่สุด นอกจากนั้น การทำธุรกรรมและการชำระเงินดิจิทัลจะกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ซอฟต์แวร์จะต้องมี และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องปรับตัว ขณะที่หลายองค์กรในธุรกิจนี้ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัยที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมาตลอด 10-20 ปี คาดว่าหลังโควิด-19 อาจจะฟื้นตัวได้ยาก
“กว่าครึ่งของธุรกิจด้านบริการการเงินยังใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ขณะที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งได้ใช้เวลาช่วงโควิด-19 ลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้เวลาติดตั้งและทดสอบระบบถึง 1 ปี ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นกันไปแล้ว ถ้ารายที่ยังไม่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนจะเสียเปรียบทางด้านเวลาเป็นอย่างมาก ดังนั้น จะเห็นช่องว่างอย่างชัดเจนหลังโควิด-19 รายที่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่เสร็จจะสร้างส่วนแบ่งการตลาดฉีกหนีคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ และโฉมหน้าธุรกิจนี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” นายสมเกียรติ กล่าว
ในช่วงระบาดของโควิด-19 การใช้ Mobile Banking และ e-Wallet เติบโตสูงมาก ผู้บริโภค 71.3% ใช้ Mobile Banking ขณะที่ 28.6% ใช้ e-Wallet ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าต้องปรับตัวทำให้เกิดการชำระสินค้าและบริการผ่าน QR code และ Bar code จากร้านค้าขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น ซอฟต์แวร์ที่จะรองรับพฤติกรรมใหม่นี้จะต้องรองรับ Digital Payment หรือการจ่ายเงินแบบดิจิทัลได้ทุกธนาคาร เริ่มตั้งแต่ process หรือกระบวนการ ไปจนถึงการสร้าง QR code หรือ Bar code ลงในใบแจ้งหนี้เพื่อส่งให้ลูกค้า ที่ต้องส่งได้ทั้ง SMS อีเมล หรือไปรษณีย์ สามารถทำการจ่ายผ่าน Mobile Banking หรือ e-Wallet ได้ทุกค่ายอย่างสะดวกและรวดเร็ว ตรวจสอบได้ ทำให้ลูกค้ามั่นใจทุกครั้งที่จ่ายค่างวด สำหร้บสินเชื่อประเภทต่างๆ ทั้งเงินกู้และเช่าซื้อ
ในปัจจุบัน ตลาดเช่าซื้อมีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งช่วงระบาดโควิด-19 และหลังจากนั้นจะเพิ่มการแข่งขันที่สูงมากขึ้นอีก ธุรกิจที่สามารถอนุมัติได้เร็วกว่าย่อมสร้างความได้เปรียบและได้ส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้องมีการแจกงานแบบอัตโนมัติ เช่น โปรแกรมต้องจับคู่พนักงานกับตัวสินค้าได้อย่างอัตโนมัติจากการตั้งค่าวงเงินสิทธิการอนุมัติและผลิตภัณฑ์ การทำงานของพนักงานในส่วนนี้ต้องสั้นลงเหลือ 5-10 นาทีก็สามารถอนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ เอกสารทั้งหมดจะต้องถูกแปลงเป็นดิจิทัลเพื่อลดเวลาการพิจารณา และรองรับระบบ Dashboard Performance ที่จะมาประเมินศักยภาพของพนักงานได้ในที่สุด
อีกบริการหนึ่งที่จะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ต้องมีซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมการทำงานกับ Social Media หลัก อย่าง Line โดยต้องมีระบบ Chatbot ที่สามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้ตลอดเวลา ตามข้อความที่ setup เอาไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนและพนักงานในการรับสายการติดต่อของลูกค้า การรับข้อความอัตโนมัติเมื่อมีการชำระเงิน สอบถามยอดหนี้คงเหลือแบบ real time
ส่วนของพนักงานนั้น ในช่วงที่ผ่านมาองค์กรทุกแห่งถูกบังคับให้ทำงานที่บ้าน จนทุกแห่งเกิดความเคยชินและสามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แล้ว ดังนั้น เทคโนโลยี Remote Working จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจไม่เกิดการสะดุด แต่เนื่องจากหลายองค์กรในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจ Finacial Service ยังใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยอย่างมาก โอกาสที่จะมีการยกเครื่องและลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้จึงมีสูงมาก โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ real time ผ่าน API
สำหรับซีเนียร์ คอมนั้นก็มีการปรับซอฟต์แวร์ H-Meter2020 ซึ่งเป็น Financial Software Service ครั้งใหญ่ในช่วงระบาดโควิด-19 ทำให้กลายเป็นซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยที่สุด เหมาะกับการทำงานออนไลน์ที่เชื่อมผ่านโครงข่ายต่างสถานที่ การชำระเงินออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับ Core Application รวมถึงการทำงานที่ต้องเว้นระยะห่าง และยังได้นำระบบคลาวด์อย่าง “นูทานิคซ์” ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกทางด้านโซลูชัน Hyper-Converged Infrastructure (HCI) ที่ช่วยให้การกระจายข้อมูล การเข้าถึง และการบริหารข้อมูลกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาให้บริการ ด้วยปัจจัยสถานการณ์และการปรับปรุงซอฟต์แวร์ H-meter2020 ครั้งใหม่นี้จะทำให้รองรับการเติบโต 30% ต่อปีของบริษัทได้ต่อไป