xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกดีอีเอส และโฆษก ตร. ห่วงคนไทยถูกซ้ำเติมจากข่าวปลอมโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกดีอีเอสฝ่ายการเมือง สรุปผลการมอนิเตอร์ข่าวปลอม ประจำวันที่ 15 ก.ค.2564 พบเรื่องเข้าเกณฑ์ตรวจสอบ 17 เรื่อง จับสัญญาณมือโพสต์ยังมุ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 สร้างและเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความตื่นตระหนกให้ประชาชน

น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำวันที่ 15 ก.ค.2564 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,650,581 ข้อความ ในจำนวนนี้มาจากช่องทาง Social Listening 1,648,765 ข้อความ ตามมาด้วยช่องทางไลน์ทางการของศูนย์ฯ เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 30 ข้อความ พบจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 17 เรื่อง แบ่งเป็น จำนวน 10 เรื่องอยู่ในกลุ่มข่าวสุขภาพ จำนวน 6 เรื่องอยู่ในกลุ่มข่าวกลุ่มนโนบายรัฐ/ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ และอีก 1 เรื่องอยู่ในกลุ่มข่าวภัยพิบัติ โดยทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนรอดำเนินการตรวจสอบ

“น่าสังเกตว่าจำนวนข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับโควิด-19 ยังคงมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหัวข้ออื่นๆ โดยข้อมูลที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมรวบรวมมาเฉพาะเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.2564) พบว่าจำนวนข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบเป็นเรื่องโควิด-19 ถึง 8 เรื่อง หรือเกือบครึ่งของจำนวนเรื่องที่ต้องตรวจสอบ เป็นการเพิ่มความตื่นตระหนก และซ้ำเติมประชาชนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19” น.ส.นพวรรณ กล่าว


สำหรับข่าวปลอมที่ได้เผยแพร่โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 ซึ่งได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเคอร่า (Kerra) รักษาโรคโควิด-19 จากกรณีการแชร์สรรพคุณผลิตภัณฑ์ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบยาเม็ดที่ได้จากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากสูตรตํารับแล้วเห็นว่ามิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด


ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใช้วิจารณญาณในการที่จะตัดสินใจเชื่อ ทุกวันนี้สังคมถูกขับเคลื่อนโดยข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความเสียหายและความแตกตื่นทำลายความสงบสุขของสังคม

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อประกอบการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการแชร์ และการส่งต่อมีความผิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ระวังเรื่องที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นข่าวปลอมผู้โพสต์ ผู้แชร์อาจมีความผิดโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ การติดตามจับกุม การดำเนินคดีจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

สำหรับข่าวที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นข่าวปลอมซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม และนำมาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ขณะนี้รอผลตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.พบชายคนหนึ่งเกิดอาการชักเกร็งหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค และ 2.ห้องเช่าแถวพระราม 3 ซอยเชื้อโควิด-19 ทั้งซอย 80 คน เสียชีวิตแล้ว 10 คน

ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียลควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand
เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER Iและช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87
เพื่อหลีกเลี่ยงจากการเป็นเหยื่อข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน


กำลังโหลดความคิดเห็น