xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าตัดใหญ่! สมาร์ทวอทช์ซัมซุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนไปที่งานประชุม I/O 2021 กูเกิลประกาศข่าวใหญ่เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 64 ว่าซัมซุงจะใช้ซอฟต์แวร์ Wear OS (แวร์โอเอส) ในสมาร์ทวอทช์ตระกูล Galaxy (กาแล็กซี่) รุ่นใหม่ที่กำลังจะแจ้งเกิดในตลาด แทนที่จะใช้แพลตฟอร์ม Tizen (ทิเซน) ของซัมซุงเอง 

การเปลี่ยนแปลงนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว ไม่เพียงสามารถช่วยให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ในสมาร์ทวอทช์ของซัมซุงดีขึ้น แต่ Wear OS ยังเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องโดยรวม ทั้งการรองรับแอป และหน้าปัดที่ใหม่กว่าเดิม

ภาวะนี้ไม่ต่างจากการผ่าตัดยกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อให้ซัมซุงสามารถสู้ศึกสมาร์ทวอทช์โลกให้ดียิ่งขึ้น การตัดเนื้อร้ายทิ้งไปและการคิดใหม่ทำใหม่เกิดขึ้นหลังจากรายงานก่อนหน้านี้ที่มีข่าวลือว่า ซัมซุงกำลังเร่งพัฒนาให้สมาร์ทวอทช์ใหม่อย่าง Galaxy Watch 4 ให้โดดเด่น เช่น การใช้หน้าปัดนาฬิกาอัจฉริยะรูปวงกลม และการเพิ่มเซ็นเซอร์วัดองค์ประกอบร่างกาย (BIA) ทั้งหมดนี้จะยิ่งส่งพลังเพิ่มดีกรีความร้อนแรงให้วงการสมาร์ทวอทช์แข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังปี 64 เป็นต้นไป

***ไม่ติดอาวุธอาจไม่รอด


สถิติส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทวอทช์โลกไตรมาส 4 (ปี 63 เทียบกับปี 62) พบว่า แอปเปิลมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 40% รองลงมาเป็นซัมซุงที่มี 10% ขณะที่อันดับ 3 คือหัวเว่ย 8% ทำได้ดีกว่าฟิตบิตที่มี 7% และแบรนด์จีนอย่างบีบีเคซึ่งครองตลาดสมาร์ทวอทช์โลก 6% นอกนั้นเป็นแบรนด์อื่นๆ 31%

ตัวเลขนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อปี 62 เวลานั้นแอปเปิลมีส่วนแบ่งตลาด 34% ฐานตลาดที่ใหญ่ขึ้นนั้นมาจากกลุ่มที่เคยเป็น “แบรนด์อื่นๆ” ซึ่งมีส่วนแบ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ซัมซุงมี 9% เท่ากับหัวเว่ยที่มี 9% โดยฟิตบิตและบีบีเคยังมีส่วนแบ่งเท่าเดิมคนละ 7%

ข้อมูลอีกส่วนย้ำว่า แอปเปิลเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทวอทช์อย่างขาดลอย สถิติพบว่ารุ่น Apple Watch Series 6 และ Watch SE มียอดขายรวมกัน 12.9 ล้านเครื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ขณะที่ซัมซุงมีแม่เหล็กเป็น Galaxy Watch 3 เบ็ดเสร็จแล้วยอดขายสมาร์ทวอทช์ทั่วโลกของแอปเปิลเพิ่มจาก 28.4 ล้านเครื่องในปี 62 มาเป็น 33.9 ล้านเครื่องในปี 63

คู่แข่งขยายตัวแต่ซัมซุงยังย่ำอยู่กับที่ จากปี 62 ที่ขายได้ 9.1 ล้านเครื่อง ยอดขายปี 63 ก็ยังทรงตัวที่ 9.1 ล้านเครื่องเท่าเดิมในปี 62 แม้แต่ฟิตบิตยังทำยอดขายลดลงจากที่ทำได้ 6.2 ล้านเครื่อง เหลือ 5.9 ล้านเครื่อง ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวเดียวของยอดรวมสมาร์ทวอทช์ที่ถูกจัดส่ง 66.6 ล้านเครื่องในปี 63

ถ้าไม่ทำอะไร ซัมซุงอาจจะลำบากหากต้องสู้กับเบอร์ 1 อย่างแอปเปิลที่ประกาศว่าได้ผ่านหลักไมล์ยอดจำหน่าย Apple Watch เกิน 100 ล้านเครื่องเรียบร้อยเมื่อเมษายน 64 แถมในวันที่การสำรวจของ Counterpoint พบว่าตลาดสมาร์ทวอทช์ทั่วโลกมีราคาขายเฉลี่ย (ASP) เพิ่มขึ้น แปลว่าผู้คนยอมซื้อเครื่องในราคาแพงขึ้นเพื่อให้ได้ใช้งานฟีเจอร์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งหมดนี้บีบให้ผู้เล่นทุกรายในตลาดสมาร์ทวอทช์ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

***ทางออกคือร่วมมือ


ซัมซุงตัดสินใจจัดงานประชุม Mobile World Congress แบบเสมือนจริงเพื่ออวดอินเทอร์เฟซสมาร์ทวอทช์ใหม่ “One UI Watch” เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา การอวดโฉมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะ One UI Watch สร้างขึ้นบนความร่วมมือกับกูเกิล เพื่อเนรมิตประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างสมาร์ทวอทช์ Galaxy ของซัมซุงและโทรศัพท์ Android เป็นการเปิดตัวล่าสุดที่สะท้อนได้ว่า Galaxy smartwatch รุ่นต่อไปของซัมซุงจะทำงานเหมือน Apple Watch มากขึ้น

พูดเป็นภาษาชาวบ้านคือกูเกิลและซัมซุงกำลังร่วมมือกันเพื่อแย่งชิงฐานตลาดจากแอปเปิล

One UI Watch เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่กูเกิลประกาศต่อชาวโลกว่ากำลังร่วมมือกับซัมซุง โดยตัดสินใจรวมระบบปฏิบัติการสมาร์ทวอทช์ของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน ทั้ง Wear OS และ Tizen ตามลำดับ แม้ว่าจะยังไม่มีการโชว์ตัวระบบปฏิบัติการใหม่อย่างเต็มรูปแบบ แต่อินเทอร์เฟซใหม่นี้บอกใบ้ว่า Galaxy Watch รุ่นต่อไปซึ่งมีคิววางจำหน่ายช่วงฤดูร้อนปีนี้ จะมี UI ใหม่ที่ช่วยให้นาฬิกาสามารถส่งต่อสิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์ Android ได้ดีขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่ติดตั้งแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ แอปนั้นจะดาวน์โหลดไปปรากฏที่สมาร์ทวอทช์แบบอัตโนมัติ

ถึงจะไม่มีใครบอก หลายคนก็รู้ว่าฟีเจอร์นี้คล้ายกับที่ Apple Watch ทำงานเหมือนกับ iPhone เครื่องจิ๋วบนข้อมือ แอปของบริษัทอื่นที่มีให้เลือกมากมายของ Apple Watch ทำให้ผู้ใช้ทำงานแบบเชื่อมกับ iPhone ได้ง่ายมาก ที่ผ่านมา Tizen ไม่มีแอปของบริษัทอื่นที่คอยให้ประสบการณ์ที่เหนียวแน่นระดับแม่เหล็ก แต่ด้วยการทำงานร่วมกันของกูเกิลและซัมซุง ย่อมมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าแอป Android ส่วนใหญ่จะใช้งานได้ดีกับนาฬิกา Galaxy Watch

ขณะนี้ ซัมซุงยังอุบเงียบไม่ยืนยันรายชื่อแอปที่รองรับ แต่นักสังเกตการณ์เชื่อว่าโลกจะได้เห็นชุดแอปของกูเกิล เช่น Google Maps, YouTube Music, Google Calendar รวมถึงแอปชื่อดังรายอื่น เช่น Calm, Sleep Cycle, Strava, Adidas Running และ Spotify จะพร้อมใช้งานแน่นอน

สิ่งที่น่าสนใจคือ One UI Watch มีคุณสมบัติบล็อกผู้ติดต่อและข้อความบนนาฬิกา โดยที่การเปลี่ยนแปลงจะมีผลกับสมาร์ทโฟนด้วย นอกจากนี้ เมื่อใดก็ตามที่เพิ่มเมืองใหม่ลงในแอปนาฬิกาบนโทรศัพท์ ตำแหน่งนั้นก็จะซิงค์กับนาฬิกาโดยอัตโนมัติ

แม้ในอินเทอร์เฟซใหม่จะฟังดูเหมือนเป็นการอัปเดตเล็กน้อย แต่ต้องถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทวอทช์โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นกลไกสำคัญให้นาฬิกา Galaxy รุ่นต่อไปใช้งานง่ายขึ้นด้วย

***รวมสิ่งที่ดีที่สุด?


ในมุมของซัมซุง ซัมซุงบอกว่าแพลตฟอร์มแบบครบวงจรและ One UI ใหม่ที่ซัมซุงได้ร่วมมือกับกูเกิลนั้นทำไปเพื่อรวมสิ่งที่ดีที่สุดจาก Tizen และ Wear OS มาไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียว ผลคือการทำให้ระบบนิเวศของเหล่าแอปพลิเคชันกว้างขึ้น แถมยังเพิ่มเติมประสิทธิภาพอันทรงพลัง รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม

และจากแผนพัฒนานี้ ซัมซุงมั่นใจว่าผู้ใช้จะได้เพลิดเพลินกับหลากหลายแอปพลิเคชันจากกูเกิลได้โดยตรงผ่าน Samsung Galaxy Watch รวมถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมอื่นทั้งทางด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย และความบันเทิง ทำให้การทำงานร่วมกันของ One UI Watch และแพลตฟอร์มใหม่จะมอบประสบการณ์ใหม่ของการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทวอทช์และสมาร์ทโฟนได้อย่างไร้รอยต่อ

“ซัมซุงได้พัฒนาเครื่องมือออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อให้เหล่านักออกแบบสามารถสร้างสรรค์หน้าปัดนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และทำให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกที่หลากหลายในการปรับแต่งนาฬิกาได้” ซัมซุงระบุ

สมาร์ทวอทช์เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของ 3 ประเด็นหลักที่เจ้าพ่อเกาหลีใต้ย้ำหนักหนาบนเวที Mobile World Congress (MWC) 2021 นอกจาก One UI Watch แต่ซัมซุงเลือกที่จะย้ำมุมมองความปลอดภัย และความยั่งยืนเพื่อโลกที่ดีกว่าในอนาคต

ซัมซุงระบุว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนที่มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยในสมาร์ทโฟนมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา ซัมซุงจึงย้ำว่าตัวเองเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมอันก้าวล้ำนำหน้าเพื่อปกป้องผู้ใช้จากภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะต่อยอดจากงาน MWC เมื่อปี 2013 ที่ซัมซุงได้เปิดตัว Samsung Knox และต่อมาได้กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านความปลอดภัยแบบองค์รวมที่คอยทำงานร่วมกับทุกนวัตกรรมที่ซัมซุงสร้างสรรค์ขึ้น


หลักการของ Samsung Knox คือการทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลของอุปกรณ์หลายพันล้านเครื่องทั่วโลก ตั้งแต่ชิปเซ็ตไปจนถึงแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ ตรงนี้ซัมซุงเคลมว่าตัวเองคือผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายในโลกที่สามารถออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เอง เป็นจุดแข็งเรื่องการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบ end-to-end ได้อย่างแท้จริงในทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

นอกจากนี้ ซัมซุงยังถือว่าตัวเองเป็นผู้ผลิตรายแรกที่แนะนำ elD solution ที่ตรงตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุดในโลก มาใช้ยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลรูปแบบใหม่ (National electronic ID) สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเดินหน้านำเสนอโซลูชันนี้ให้หน่วยงานทั่วโลก เพื่อให้เกิดเป็นกรณีศึกษาด้านการใช้งานต่อผู้ใช้งานต่อไปในอนาคต


ทั้งหมดนี้จะทำคู่กับนโยบายเพิ่มเติมระบบการป้องกันด้วย Samsung Knox Vault ซึ่งได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัย Evaluation Assurance Level 4+ มาปกป้องข้อมูลละเอียดอ่อนของผู้ใช้งาน เช่น รหัสผ่านหรือไบโอเมตริกซ์ บนเวทีมีการย้ำว่า Samsung Knox Vault เกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หน่วยประมวลผล (Processor) ที่ทำหน้าที่เข้ารหัสและปกป้องข้อมูลจากการโจมตีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โปรโตคอล (Protocol) ที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลไปยัง Knox Vault Storage ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน โดยข้อมูลที่ได้รับการบันทึกไว้บน Knox Vault Storage จะถูกแยกออกจากระบบปฏิบัติการหลักโดยสิ้นเชิง

ในงาน MWC ซัมซุงทิ้งท้ายด้วยการประกาศความร่วมมือกับดอยช์เทเลคอม (Deutsche Telekom) เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านภารกิจแรกคือการพัฒนาสมาร์ทโฟน 5G ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด โดยไม่ลดทอนคุณสมบัติอันทรงประสิทธิภาพ ซึ่งตัวเครื่องจะมาพร้อมกับการซ่อมแซมที่ง่าย และแบตเตอรี่ที่ถอดออกได้


ภารกิจที่ 2 คือการเสริมความแข็งแกร่งด้านการทำการตลาดร่วมกันในกลุ่มสมาร์ทโฟนใช้แล้ว เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น ด้วยการรับซื้อสมาร์ทโฟนที่ใช้แล้วคืนมายังบริษัท ก่อนนำมาปรับปรุงใหม่ และกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง โดยแนวคิดนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วที่ประเทศโปแลนด์และเยอรมนี พร้อมแผนการที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอนาคต

ขณะที่ภารกิจที่ 3 การสนับสนุนแนวคิดในการชดเชยต้นทุนการรีไซเคิล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการรีไซเคิลเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภารกิจที่ 4 คือการจัดการพอร์ตโฟลิโอของดีไวซ์ที่มีในปัจจุบันเพื่อสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น