xs
xsm
sm
md
lg

“เบ็นคิว” ลุ้นออกจอ IFP ต้านไวรัส โฟกัสเทรนด์ "เรียนแบบผสมผสาน" บูมแรงหลังวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบ็นคิว ประเทศไทย (BenQ) เผยเป้าหมายธุรกิจครึ่งหลังปี 64 มั่นใจขึ้นเบอร์ 1 จอภาพ Interactive Flat Panel (IFP) หรือกระดานอัจฉริยะกลุ่มโรงเรียนอนุบาล-ประถม-มัธยมฯตอนต้นได้ปีนี้ มองตลาดกระดานไฮเทคไทยโตเกิน 100% ไม่ใช่ฟองสบู่ ลุยโฟกัส Blended Learning Solution เพื่อการเรียนรู้แบบผสมผสานที่จะเป็นเทรนด์แรงแม้ทั้งโลกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แย้มอนาคต IFP ของ BenQ อาจมีฟีเจอร์ต้านไวรัสหลากสายพันธุ์ เพิ่มจากปัจจุบันที่ต้านแบคทีเรีย

นายวัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ เผยภาพรวมธุรกิจของ BenQ ว่า สินค้ากลุ่มจอภาพ Interactive Flat Panel (IFP) หรือจอภาพขนาดใหญ่แบบทัชสกรีนจะเติบโตต่อเนื่องช่วงที่วัคซีนโควิด-19 เริ่มแพร่หลาย หลังจากเป็นกลุ่มสินค้าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากในช่วงที่ผ่านมา โดยจากที่เริ่มทำตลาดมาตั้งแต่ปี 59 บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด IFP จาก 2.72% ในปี 60 มาเป็น 9.51% ในปี 63 ซึ่งแม้จะครองอันดับที่ 4 ในตลาดรวม แต่ BenQ สามารถครองแชมป์อันดับ 1 ในตลาดภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 27.78% ในขณะที่ส่วนแบ่งของภาคการตลาดการศึกษาในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยม หรือ K12 นั้น มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 25.89% เป็นอันดับ 2 รองจากคู่แข่ง (ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2564 อ้างอิง Future Source Research)

"ภาพรวมตลาด IFP ไทยเติบโตเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ จากที่มี 10 แบรนด์ในตลาดตอนนี้ขยายมาเป็น 18 แบรนด์รวมแบรนด์จีน บทสรุปคือส่วนแบ่งตลาดนี้ขยายเพิ่มขึ้นทวีคูณทุกปี BenQ จึงต้องเติบโตให้ไม่น้อยกว่าตลาด เราตั้งเป้าจะเจาะกลุ่มภาคการศึกษา K12 ขยับจากเบอร์ 2 ให้เป็นเบอร์ 1 ภายในปีนี้"


วัชรพงษ์ ย้ำว่า ช่วงครึ่งหลังปีนี้ BenQ จะขยายส่วนแบ่งตลาดรวม IFP จาก 9.51% ให้เพิ่มเป็นมากกว่า 10% ให้ได้ โดยมองว่าการขยายตัวของตลาด IFP เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เพื่อการประชุมทางไกล เนื่องจากองค์กรได้เรียนรู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยลดต้นทุนได้ ทำให้องค์กรยังคงปิดสาขาย่อยแม้จะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นในประเทศไทย เบื้องต้น เชื่อว่าระบบ mobile meeting จะยังได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่สำนักงานจะเป็นเอาตฺซอร์ส ส่งให้ตลาดอุปกรณ์เพื่อการประชุมทางไกลจะยังเติบโตขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริด

ในภาวะที่ตลาดจอภาพ IFP มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง BenQ ระบุว่า จะเน้นที่ Blended Learning Solution ซึ่ง BenQ มองว่าจะเป็นตลาดใหญ่ในวันที่โรงเรียนต้องลงทุนเพื่ออนาคต Blended Learning Solution จะมีซอฟต์แวร์ที่ BenQ พัฒนาขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเปิดปิดเครื่อง IFP จากระยะไกล รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ทำให้ IFP แสดงข้อมูลการเรียนการสอนของครูหลายคนได้ด้วยการแตะบัตรประจำตัวที่เครื่อง ทั้งหมดนี้จะรองรับรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนไทยอาจเลือกใช้ระบบเรียนวันเว้นวัน หรือเรียนสดครั้งละครึ่งห้องในช่วงหลังโควิด-19

"Blended Learning Solution ไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนสามารถเริ่มการเรียนการสอนออนไลน์ได้สะดวกในช่วงโควิด-19 แต่หลังจากนั้นก็ยังสามารถลดจำนวนรถยนต์ที่ออหน้าโรงเรียน เพิ่มความคล่องตัวให้การจราจรรอบโรงเรียน และหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็สามารถยุบชั้นเรียน แล้วเรียนออนไลน์ได้ทันทีตามสถานการณ์ฉุกเฉิน มั่นใจว่าตลาดนี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่"


นอกจาก Blended Learning Solution แบรนด์ไต้หวันอย่าง BenQ ยังมองว่า IFP ของตัวเองมีจุดเด่นที่การเคลือบสารต้านแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพนาน 10 ปี ประเด็นนี้ผู้บริหารระบุว่า บริษัทแม่มีแผนจะพัฒนาเป็นหน้าจอต้านไวรัสหลากหลายสายพันธุ์ในอนาคต เบื้องต้นยังไม่เปิดเผยความคืบหน้าในขณะนี้ เพื่อป้องกันความสับสนว่าเป็นสารต้านไวรัสกลุ่มโควิด-19

ในขณะที่ IFP ถูกยกเป็นพระเอกเด่นสำหรับธุรกิจปีนี้ BenQ ย้ำว่าบริษัทยังสามารถประคองส่วนแบ่งทางการตลาดโปรเจกเตอร์ปี 2020 ให้เป็น 7.64% โดยถูกจัดเป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าทั้งหมด 15 แบรนด์ และโตขึ้น 6.11% เมื่อเทียบกับปี 2019


BenQ ยอมรับว่าอุตสาหกรรมโปรเจกเตอร์นั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก เห็นได้จากขนาดอุตสาหกรรมโปรเจกเตอร์นั้นหดตัวลงเหลือ 50,400 เครื่องจากปี 2019 ที่ทำได้ 63,000 เครื่อง การหดตัว 19.87% นี้เกิดขึ้นเพราะหลายปัจจัย เช่น การชะลอการจัดซื้อจัดจ้างของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยงบประมาณส่วนใหญ่ที่เน้นการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ประเภท Notebook, Table, Computer เครื่องประกอบ และอุปกรณ์กล้องประชุมทางไกล

"ภาพรวมตลาดโปรเจหเตอร์ลดลงทั่วโลกตั้งแต่ปี 61 ลดลงเพราะภาวะเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ยังมีสงครามการค้าและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดโปรเจกเตอร์ยังหดตัวต่อเนื่องในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเม็ดเงิน BenQ ยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากหลอดไส้มาเป็นเลเซอร์ และปีนี้ยังเป็นช่วงที่หลายบริษัทเปลี่ยนโปรเจกเตอร์”

BenQ จึงเชื่อว่าปีนี้บริษัทจะสามารถรักษาการเติบโตในตลาดโปรเจกเตอร์ได้มากขึ้นเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ จากที่ทำได้ 6 เปอร์เซ็นต์ในปี 63 โดยคาดว่าช่วงสิ้นปีนี้จะยังอยู่ในอันดับ 4 ของตลาดโปรเจกเตอร์ไทยเช่นเดิม

เพื่อปรับตัวรับมือกับยุคโควิด-19 BenQ ตัดสินใจปรับกลยุทธ์โดยเน้นการขายโปรเจกเตอร์แบบโซลูชันห้องประชุม และจับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารแช่แข็งส่งออก กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจประกันภัย กลุ่มธุรกิจการแพทย์และโรงพยาบาล กลุ่มธุรกิจบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ Top-50 แรกที่มีมูลค่าหุ้นและการเติบโตดีในช่วงปี 63


ขณะนี้ BenQ ยังไม่เอ่ยถึงความพร้อมในการให้บริการในรูป as a service ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่ต้องลงทุนก้อนแรกเพื่อซื้ออุปกรณ์ แต่สามารถทำสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์แล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ตามระยะเวลาที่ต้องการ เบื้องต้น BenQ ย้ำเพียงว่า บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรเจกเตอร์ทั้งแบบเช่าซื้อหรือเช่าใช้ โดยยังไม่ได้ทำกับสินค้ากลุ่ม IFP

สินค้าล่าสุดที่ BenQ ทำตลาดคือ Smart Projector รุ่น E600-Series ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Android, WiFi, Bluetooth เข้าไปในตัวเครื่อง พร้อมเน้นกลุ่มตลาดห้องประชุมใหม่ด้วยการติดตั้ง Smart Projector ไม่จำเป็นต้องมีการเดินสายเคเบิล หรือสาย HDMI จากตัวเครื่องบนเพดานสู่โต๊ะประชุมแบบเดิม แต่สามารถ Mirror ภาพขึ้นไปได้โดยง่าย ผู้ใช้จึงสามารถนำเสนอข้อมูลที่เก็บไว้ใน Cloud แล้วฉายออกจากตัวเครื่องโปรเจกเตอร์ได้เลย โดยในปี 2019 เบ็นคิว มีการจำหน่าย Smart Projector ในตลาดที่ 45 เครื่อง แต่ในปี 2020 มีการจำหน่าย Smart Projector ออกสู่ตลาดทั้งหมด 408 เครื่อง และได้เน้นกลุ่มลูกค้าที่ใช้เพื่อการสันทนาการและความบันเทิงภายในบ้านประเภท 4K หรือ Laser TV โปรเจกเตอร์แทน จึงทำให้บริษัทยังสามารถโตได้ในสภาวะวิกฤตที่หนักในปี 62-63

ยังมีจอภาพอัจฉริยะ IFP รุ่น RE9802 ขนาดหน้าจอ 98 นิ้ว เปิดตัวในราคา 499,000 บาท และรุ่น CP6501K ขนาดหน้าจอ 65 นิ้ว เปิดตัวในราคา 299,000 บาท เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจสถานศึกษาโดยมุ่งเน้นโรงเรียนนานาชาติเป็นหลัก และกลุ่มธุรกิจภาคเอกชน และรัฐบาลรองลงมา


กำลังโหลดความคิดเห็น