xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจ ‘ดนันท์’ ปั้น ThailandPost Digital

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดภารกิจ ‘ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ใช้ยุทธศาสตร์ Technology Driven Company พลิกไปรษณีย์ไทยสู่ ThailandPost Digital ด้วยเป้าหมายสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างคุณค่าด้านความสัมพันธ์ที่ผูกพันกับชุมชนคนไทยผ่านบริการไปรษณีย์ที่ยาวนานกว่า 135 ปี กับความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีไอทีและดิจิทัล พัฒนาธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะกลายเป็นจุดแข็งที่ไปรษณีย์ไทยยืนหนึ่งเหนือคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรม

17 พฤษภาคม 2564 จะเป็นวันแรกที่ ‘ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของรัฐวิสาหกิจเมื่อมีการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ มักถูกตั้งแง่ออกแนวยกการ์ดสูงของคนในว่าเป็นคนนอกจะไปรู้เรื่องอะไร จะทำงานได้ขนาดไหน แต่สำหรับ ‘ดนันท์’ ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคนนอกเข้ามานั่งในตำแหน่งบริหารสูงสุดขององค์กรนี้ แต่เรียกได้ว่าเป็นคนในสายเลือดเดียวกัน

*** คนในไม่ใช่คนนอก

‘ตอนนี้เป็นเวลาที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง คนไปรษณีย์อาจไม่รู้จักเรา แต่เราคือคนที่เกิดขึ้นมาจากที่เดียวกับเขา ผมเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยมากว่า 26 ปี ที่ตอนนั้นทำธุรกิจทั้งด้านโทรคมนาคมและไปรษณีย์ไทย คืออยู่ด้วยกัน ผมก็รู้จักพี่ๆ น้องๆ หลายคนที่อยู่ในไปรษณีย์ เรียกได้ว่า เกิดจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้วไปฝึกวิชาด้านดิจิทัล แล้วกลับมาทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล’ ดนันท์ กล่าวเมื่อถูกถามเรื่องคนนอกหรือคนใน

ภายหลังจากที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย แตกตัวออกมาเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ‘ดนันท์’ ได้เติบโตอยู่ใน กสท โทรคมนาคม โดยมีตำแหน่งสำคัญๆ อย่างรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลผลิตภัณฑ์ใน 6 กลุ่มหลักทั้ง Datacom, Voice, Internet, Cloud& Data Center, IT Security และ e-Business รวมถึงเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยด้านไอทีระบบคลาวด์และบิ๊ก ดาต้า การให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนเคยรับผิดชอบงานทางด้านวิศวกรรมและวางแผนระบบสื่อสารผ่านเคเบิลใยแก้ว ระบบเคเบิลใต้น้ำ และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมในช่วงแรกๆ ที่ประเทศไทยเริ่มมีการวางระบบโครงข่ายด้านโทรคมนาคมเพื่อรองรับการสื่อสารในยุคใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2539

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเชี่ยวชาญด้านไอทีและดิจิทัล อย่าง ‘ดนันท์’ จะคิดว่าเมื่อเป็นเบอร์หนึ่งไปรษณีย์ไทย สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน จากการที่ปัจจุบันตลาดที่มีการเติบโตคือตลาด parcel หรือพัสดุภัณฑ์ มีผู้เล่นต่างชาติเข้ามาแข่งขันหลายราย สิ่งที่ไปรษณีย์ไทยจะสู้คือ เพิ่มคุณภาพการให้บริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ จะต้องมีการเข้าถึงบริการทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมทั้งเรื่องคุณภาพของการส่ง ทำอย่างไรให้การส่งเป็นไปตามเวลาที่ให้คำมั่นไว้ และต้องไม่เสียหาย

‘ที่สำคัญคือต้องสร้างวัฒนธรรมที่ว่า ของที่ส่งออกไปต้องส่งภายใต้ความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของพัสดุภัณฑ์นั้นๆ เอง เราเป็นคนส่งแต่ต้องทำให้เหมือนเราเป็นเจ้าของสินค้านั้นๆ เราจะดูแลมันอย่างไรเพื่อไม่ให้ของแตกหักเสียหาย’

*** หัวใจสำคัญ ‘สถาปัตยกรรมองค์กร’


สิ่งที่ต้องทำคือการบูรณาการด้านดาต้า หรือ ข้อมูล จริงๆ ไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งที่บุรุษไปรษณีย์ ซึ่งเป็นเหมือนฮีโร่ขององค์กร มีความคุ้นเคยชุมชน รู้จักบ้าน รู้จักคน ทำอย่างไรถึงจะสามารถนำข้อมูลที่บุรุษไปรษณีย์มี เพื่อมาบูรณาการแล้วต่อยอดสร้างบริการใหม่ๆ ตอนนี้ความต้องการของคนเปลี่ยนไป อย่างกรณีของที่ต้องส่งไปที่บ้าน แต่ถ้าคนรับไม่อยู่ต้องส่งกลับแล้วต้องไปรับเอง เป็นเรื่องที่ไม่สะดวก แต่ไปรษณีย์ไทย สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้

‘ถ้ามีดาต้าที่มากพอแล้วประมวลผลแบบเรียลไทม์ คนที่รับของบอกมีธุระที่ต้องออกนอกบ้าน ให้เปลี่ยนเส้นทางการส่งไปอีกที่หนึ่ง หรือให้มาส่งเวลาใหม่ โดยที่ไปรษณีย์ไทยไม่ต้องทำกระบวนการกลับไปกลับมาเยอะใช้ทรัพยากรที่อยู่ในเส้นทางที่บริหารจัดการได้ ก็แก้ปัญหาตรงนี้ได้ เป็นการยกระดับการให้บริการซึ่งพวกนี้ต้องการดาต้า’


สิ่งที่ ‘ดนันท์’ อยากจะทำอีกอย่างคือ การ maximize เวลาของบุรุษไปรษณีย์ ในเมื่อบุรุษไปรษณีย์ต้องไปส่งของอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการเวลาของบุรุษไปรษณีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกนอกจากแค่การส่งของ ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ตลาดใหม่ ธุรกิจใหม่ ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ต้องมีคนไปอ่านมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ ถ้าให้บุรุษไปรษณีย์ที่ไปส่งของอยู่แล้วถ่ายรูปมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ ส่งเข้าการไฟฟ้า หรือการประปาก็ไม่จำเป็นต้องส่งคนไปจดมิเตอร์ หรือธุรกิจประกัน เวลาผู้เอาประกันเรียกไปเคลมไปถ่ายรูปรถที่บ้าน หากมีบุรุษไปรษณีย์อยู่ตรงนั้นก็สามารถไปถ่ายรูปให้ จะเห็นได้ว่ามีบริการหลายอย่างที่ทำได้ ภายใต้แวลลูเชนของโอเปอเรชันของไปรษณีย์พวกนี้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ แต่จะทำอย่างนี้ได้สิ่งแรกต้องบูรณาการดาต้า

‘มันไม่ใช่การเพิ่มงาน แต่หากทำงานเพิ่มก็ต้องได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เมื่อองค์กรได้ คนทำงานก็ต้องได้ บริการใหม่ๆ จะประสบความสำเร็จคนของเราต้องเต็มใจทำ ต้องอยากทำ แต่เราจะบริหารจัดการก็ขึ้นกับดาต้า’ ดนันท์กล่าวและย้ำถึงหัวใจของความสำเร็จว่า ‘ตอนนี้ดาต้ามันอยู่กระจัดกระจายทั้งองค์กร อยู่ในสมองของบุรุษไปรษณีย์ อยู่ในอุปกรณ์ หรือ การเก็บแบบแมนนวลของใครบ้าง ทำอย่างไรที่จะรวบรวมพวกนี้เข้ามาเป็นแอสเสทขององค์กรจริงๆ ทำให้ตอนนี้เราให้ความสำคัญมากกับเรื่อง Enterprise architecture หรือ สถาปัตยกรรมองค์กรที่จะทำในเรื่องการบริหารจัดการดาต้า’


ดนันท์ กล่าวว่า ในโลกยุคดิจิทัลทุกบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเพื่อให้อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน แต่ความเป็นอยู่ของพนักงานจะต้องดีขึ้น หมายถึงองค์กรต้องเจริญขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดัน

‘ผมเป็นคนใช้เป้าหมายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน เส้นทางการเดินผมค่อนข้างยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ผมเป็นคนที่เข้าถึงง่าย ไม่มีพิธีรีตอง เป็นคนไม่คิดเล็กคิดน้อย’

เขาระบุว่า ในช่วง 6-8 เดือนหลังรับตำแหน่ง น่าจะเห็นผลในเรื่อง ThailandPost Digital โดยจะเลือกในจุดที่เป็นคอขวด แล้วใช้เทคโนโลยีแก้ตรงนั้น โดยเริ่มเก็บดาต้า ให้คนทุกคนเอาดาต้ามาบูรณาการกัน พอมีดาต้าจำนวนมาก คุณภาพการให้บริการก็จะดีขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการส่งของความผิดพลาดจะน้อยลงมากๆ เพราะแทนที่ใช้ลายมือเขียนก็เปลี่ยนเป็นพรินต์ให้อ่านง่าย เพราะคนส่งก็จะมีลิสต์รายชื่อที่ส่งบ่อย ก็แค่ไปติ๊กชื่อคนที่จะส่งถึงแล้วพรินต์ที่ไปรษณีย์ ลดความเสี่ยงในการใช้ลายมือตัวเอง ซึ่งเรื่องพวกนี้ใช้ดาต้าเบสและไอทีในการให้บริการ

เมื่อถูกถามถึงเป้าหมายของไปรษณีย์ไทยในความคาดหวัง ดนันท์ กล่าวว่าผมคิดว่าไปรษณีย์ไทยเติบโตมากว่า 135 ปี อยู่กับสังคมไทยมานานขนาดนี้ เกิดมาทุกคนรู้จักตู้แดง รู้จักบุรุษไปรษณีย์ หน้าที่ของเราคือทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตแบบยั่งยืนและให้บริการที่ดีแก่สังคมไทย

สิ่งที่ท้ายทายและต้องรีบดำเนินการคือไปรษณีย์ไทยมีคุณค่าของตัวเองอยู่ แวลลูที่มีอยู่บวกกับการที่เป็นหน่วยงานรัฐ อาจทำให้มุมมองของคนภายนอก ดูเราไม่ทันสมัยเมื่อเทียบกับต่างชาติ และดูโลว์เทค บริการเข้าถึงยากใช้ยากดูคุณภาพไม่ดี แต่ด้วยแวลลูที่สร้างสมไว้จากการให้บริการที่ยาวนานบวกกับความสัมพันธ์ชุมชน ทำอย่างไรที่เราจะสร้างสมดุลตรงนี้กับการให้บริการด้วยภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ความเป็นดิจิทัล คัมปานี สะท้อนออกไปให้คนเข้าใจตัวตนว่าวันนี้เรามีบริการที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีที่ดี

‘เป็นสิ่งที่เราต้องมัด 2 อย่างนี้สร้างสมดุลให้มันไปด้วยกันให้ได้ เพราะถ้าไปในประวัติศาสตร์มากๆ ความทันสมัยก็จะดร็อป แต่ถ้าไปทางทันสมัยมากๆ แวลลูที่เราสร้างมาจากประวัติศาสตร์ มันก็จะโดนดร็อปไปเหมือนกัน แต่ถ้ารวมกันได้อย่างถูกต้องในสัดส่วนที่ดี สัดส่วนที่เหมาะสม ไปรษณีย์ไทยจะมีจุดแข็งที่ไม่มีใครสู้ได้ เพราะคนอื่นจะไม่มี 2 อย่างนี้ร่วมกัน’


ดนันท์ กล่าวสรุปถึงหน้าที่สำคัญบนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทยว่า ‘ต้องทำให้คนมีความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกันได้โดยเร็ว บางทีองค์กรที่ใหญ่ แต่ละคนมีทิศทางของตัวเอง หน้าที่เราคือทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้พร้อมกัน เป็นสิ่งที่ท้าทายและส่งผลต่อการแพ้หรือชนะขององค์กร ลองคิดดูคนจำนวนมากเดินทิศทางเดียวกัน จะมีพลังมหาศาลแค่ไหน’

***ปูมหลัง ‘ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’

มีประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากว่า 25 ปี ได้รับการยอมรับในวงการสื่อสารโทรคมนาคมรวมถึงมีบทบาทด้านการพัฒนาและบริหารธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก่อนที่บริษัทจะควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด

ทั้งนี้ ‘ดนันท์’ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์) (เกียรตินิยม) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA-Executive) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (Telecommunications Engineering) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (Electrical and Systems Engineering) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Electrical and Systems Engineering) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น