ผ่านมาเกิน 1 ทศวรรษแล้วกับโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยของกลุ่มทรู ภายใต้ชื่อที่คุ้นหูอย่าง 'ทรูปลูกปัญญา' ซึ่งถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้
'ทรูปลูกปัญญา' เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2550 ภายใต้มุมมองทางด้าน CSR จากประธานกรรมการฯ ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ให้มีความรักต่อการทำเพื่อสังคมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเรื่องของความรู้ การศึกษา ที่มาควบคู่กับคุณธรรม จนทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของทรูปลูกปัญญา ที่ทำเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
สะท้อนออกมาให้เห็นถึงการรับรู้จากสังคมภายใต้ ผลวิจัย 'บริษัทที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในประเทศไทย ปี 2563' (Thailand’s Most Admired CSR Companies 2020) ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับจากการร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย ผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา
ผลวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ไทพ์วันแล็บ และมาร์เก็ตบัซซ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นคนไทยกว่า 9,600 คนจากทั่วประเทศตลอดช่วงปี 2020 ที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มทรู ได้รับการยกย่องมากที่สุดในส่วนของการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ที่แพลตฟอร์ม True Virtual World ได้เข้ามาช่วยให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถเรียนรู้ได้แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอรเชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังที่ทรู ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับ 1 ทางด้าน CSR โดยเฉพาะการสนับสนุนทางด้านการศึกษาว่า เกิดขึ้นจากแนวคิดในการทำธุรกิจ และตอบแทนสังคมที่ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงประเทศชาติ สังคม และองค์กรด้วย
'จากโครงการทรูปลูกปัญญาที่ทำต่อเนื่องเพราะต้องใช้เวลากว่า 15 ปี ถึงจะเห็นผล ทำให้เห็นว่าการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคน และมั่นใจว่าถ้ามุ่งมั่นและทำจริงๆ ทำอย่างต่อเนื่อง รักในสิ่งที่ทำก็จะเห็นถึงผลที่ออกมา'
เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้วเมื่อเยาวชนได้รับการศึกษาเติบโตมาก็จะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลของทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อเห็นโครงการที่สนับสนุนทางด้านการศึกษาได้รับการยอมรับจากผลวิจัย ยิ่งทำให้ดีใจมากขึ้นในทุกๆ ครั้ง และพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ทรูปลูกปัญญา กลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ของกลุ่มทรู ที่อยู่ภายใต้ 3 แนวทางหลักที่ยึดมั่นมาตลอดคือ ปลูกความรู้ ปลูกความดี และ ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม ที่สานความสำเร็จ ความต่อเนื่อง ความต้องการในการทำประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง
***ผสมผสาน 'ออนแอร์ ออนไลน์ ออนกราวด์'
เริ่มกันจาก 'ปลูกความรู้' ในการทำให้เรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องไกลตัว ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม เริ่มต้นตั้งแต่การนำองค์ความรู้ในยุคเริ่มต้นเกี่ยวกับจานดาวเทียม ที่มอบจานแดงให้โรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้เอกชนเข้าไปดูแล เพื่อให้เข้าถึงช่องรายการในกลุ่มของ True Knowledge
จนถึงการสร้างบรอดคาสต์คลาสรูมขึ้นมานำเสนอเนื้อหาความรู้ที่ดีให้แก่นักเรียนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้เป้าหมายในการเข้าไปสนับสนุนให้ถึง 10,000 โรงเรียน จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 6,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่เป็นการมอบคอนเทนต์ให้เข้าถึงผ่านช่องทางออนแอร์
ตามมาด้วยการสร้างเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมขึ้นมาให้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บองค์ความรู้บนช่องทางออนไลน์ จนกลายเป็นเว็บไซต์ทางด้านการศึกษาที่มีผู้เข้าใช้งานเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์การให้เยาวชนไทยเข้าถึงองค์ความรู้ที่ดีมีคุณภาพ และให้โอกาสได้เข้าถึงความรู้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขณะเดียวกัน เมื่อพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานสมาร์ทโฟน ทำให้ต่อยอดมายังการพัฒนาแอปพลิเคชัน และเสริมด้วยการทำนิตยสาร ปลูกแมกกาซีน ที่รวบรวมองค์ความรู้มาให้ทุกๆ คนได้เข้าถึง
ต่อเนื่องไปถึงการออกไปจัดกิจกรรมแบบออนกราวด์ ที่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงออนแอร์ และออนไลน์ ด้วยการนำติวเตอร์ชื่อดังเข้าไปเปิดคลาสสอนตามโรงเรียนในต่างจังหวัดในลักษณะของ School Tour ทำให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียน
ตามมาด้วยในแง่ของการ 'ปลูกคุณธรรม' ที่ควบคู่ไปกับการสร้างจริยธรรม ภายใต้ไอเดียในการสร้างคอนเทนต์ที่ให้เด็กเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่าย จึงเกิดเป็นโครงการอย่าง สามเณรปลูกปัญญาธรรม ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรกก็จะมีความกังวลเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อกำหนดทางศาสนาต่างๆ แต่สุดท้ายก็ทำงานกันบนแนวทางที่ว่า 'ถ้าเราทำความดี อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ต้องกลัว'
สุดท้ายในเรื่องของ 'ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม' ที่เข้าไปร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดโครงการถ่ายภาพ 'สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ' จนถึงการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า และอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
***แพลตฟอร์มสร้างอนาคตทางการศึกษา
ดร.เนตรชนก กล่าวถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ กลุ่มทรูที่มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมทางด้านการศึกษาจึงเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม True Virtual World ขึ้นมา และนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทางด้านการศึกษาด้วย
'ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณศุภชัย ที่เห็นว่าดิจิทัลจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของภาคการศึกษาทำให้ที่ผ่านมา ทรูปลูกปัญญา มีการทรานฟอร์มทุกอย่างให้มาอยู่ในโลกดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว เมื่อผสมผสานกับการให้บริการ 4G 5G ที่เกิดขึ้นจึงเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสให้โรงเรียนต้นแบบได้นำเนื้อหาเหล่านี้ไปใช้งาน'
นอกจากนี้ ทรูยังได้เข้าไปร่วมมือกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ทำให้จากโรงเรียนต้นแบบกว่า 6,000 แห่ง เมื่อรวมกับโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการในมูลนิธิฯ อีกกว่า 5,600 แห่ง ช่วยให้ครอบคลุมโรงเรียนมากกว่า 1 หมื่นแห่งจากโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศแล้ว
ภายในแพลตฟอร์มของ True Virtual World จะมีทั้ง V Learn ที่เข้าไปสนับสนุนด้านการเรียนรู้ V Work สำหรับการทำงาน ที่นำแพลตฟอร์ม VRoom ไปใช้ในการประชุมสนทนา หรือใช้เรียนออนไลน์ V Health ในการเชื่อมโยงคนไทยสู่การแพทย์ ภายใต้เป้าหมายหลักคือการรวบรวมองค์ความรู้ของทั้งโลกมาไว้ให้ได้ศึกษาภายในแพลตฟอร์มนี้
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทรูตั้งใจในเวลานี้คือการมุ่งมั่นที่จะไม่หยุดพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน รวมถึงการที่ทุกคนในองค์กร ได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้โครงการเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ
'เมื่อเป็นการให้ความรู้ทางด้านการศึกษา ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นผลลัพธ์ที่มากขึ้นเท่านั้น ทำให้เวลานี้ทั้งกลุ่มทรู และภายในเครือซีพี กำลังประสานกำลังกันเพื่อสร้างความสุข และรอยยิ้มของเด็กๆ ให้กลับคืนสู่สังคม และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติต่อไป'