AIS Robotic Lab ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องนวัตกรรม "UVC Moving CoBot" หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะฆ่าเชื้อไวรัสด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99.99% ตอบรับโรดแมปการเปิดประเทศ
อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน หรือเอไอเอส กล่าวว่า AIS Robotic Lab ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยพัฒนา UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ ที่ถือเป็นต้นแบบหุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ในขั้นต่อไป
โดยจุดเด่นของ UVC Moving Cobot คือ แขนกลสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ จึงสามารถทำความสะอาดโต๊ะ ตู้ เตียง ชั้นวางสินค้า และฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีความปลอดภัยอย่างมาก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกันพัฒนาฟีเจอร์อัจฉริยะ อย่างเทคโนโลยี Virtual Mapping ที่ช่วยกำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าหาวัตถุหรือสถานที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ขณะเดียวกัน ยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการ ผ่านเครือข่าย 5G ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง ลดภาระงานหนัก และลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากรังสี UV-C และลดการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หุ่นยนต์นี้จะกลายเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่จะพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในอนาคต เพื่อสังคมและเศรษฐกิจไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และคนไทยสามารถใช้นวัตกรรมในราคาประหยัด ลดการนำเข้า สร้างความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน
ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าทีมวิจัยและหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับ UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่มีส่วนประกอบหลัก 4 อย่างที่ทำงานร่วมกัน
เริ่มตั้งแต่ 1.แหล่งกำเนิดรังสียูวีซี ขนาดกำลังอย่างน้อย 16 วัตต์ ขนาดหลอดยาว 25-35 เซนติเมตร ติดตั้งบนปลายแขนของหุ่นยนต์แขนกล 2.หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ ซึ่งแขนด้านหนึ่งของหุ่นยนต์ติดตั้งแหล่งกำเนิดรังสียูวีซี และแขนอีกด้านหนึ่งเป็นฐานของหุ่นยนต์ ติดตั้งเข้ากับ AGV รถนำทางอัตโนมัติ สามารถครอบคลุมการฉายรังสีในระยะ 65-75 ตารางเซนติเมตร เคลื่อนไหวได้ความเร็วต่ำสุด 2 เซนติเมตร/5 นาที และความเร็วสูงสุด 110 เซนติเมตร/นาที ยกโหลดน้ำหนักวัตถุได้ 5 กิโลกรัม
3.รถนำทางอัตโนมัติ (Automated Guide Vehicle: AGV) สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่มีแถบแม่เหล็กกำหนดไว้ ตัวรถมีความเร็วในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 8 เมตร/นาที สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นระบบขับเคลื่อน และ 4.ระบบเครื่องจักรมองเห็น (Machine Vision) ทำหน้าที่ค้นหาสัญลักษณ์เพื่อประเมินผลคุณลักษณะของวัตถุภายในพื้นที่ โดยระบบจะจดจำวัตถุและออกคำสั่งการเคลื่อนที่ตามที่บันทึกไว้ หรืออ่านคำสั่งด้วยรหัสบาร์โค้ด
ในทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับว่า การใช้รังสี UV-C ที่มีความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้ ปัจจัยที่จะทำให้การฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบทางวิศวกรรม ได้แก่ 1.ค่าความเข้มของหลอด (Power Density) 2.ระยะห่างของพื้นผิวที่ต้องการฉายเพื่อฆ่าเชื้อ (Distance) และ 3.ระยะเวลาของการฉายรังสี (Time) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าเชื้อนั้นจะต้องนำแสงรังสีเข้าใกล้กับตัวพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อให้มากที่สุด และต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึงพื้นผิวทั้งหมดด้วย (ระยะห่างขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ ตามหลักวิศวกรรม)