xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมอง 3 ผู้บริหาร Samsung ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีกล้อง จอภาพ และ SmartThings บนสมาร์ทโฟน Galaxy

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่การเปิดตัว Samsung Galaxy S21 ซีรีส์ ในช่วงต้นปี มาจนถึงการแนะนำ Samsung Galaxy A ซีรีส์ประจำปี 2021 ซัมซุง ได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยยกระดับชีวิต และการใช้งานของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการพัฒนาทั้ง ‘จอภาพ’ ‘กล้อง’ และ ‘อุปกรณ์ IoT’ ที่จะมาช่วยเสริมให้อีโคซิสเต็มของ Samsung Galaxy สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับรวมถึงการเปิดให้สมาร์ทโฟนระดับกลางอย่าง A ซีรีส์ สามารถเข้าถึงความสามารถของ SmartThings เพื่อใช้งานด้วย


ซุงแด โช รองประธานและหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์การแสดงผล ซัมซุง โมบายล์ กล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนากล้องบนสมาร์ทโฟนของซัมซุง คือ การนำเทคโนโลยีกล้องที่สามารถเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่มีความต้องการหลากหลายได้อย่างลงตัน

โดยทางซัมซุงได้มีการสำรวจถึงความต้องการใช้งานกล้องบนสมาร์ทโฟนของผู้ใช้พบว่า ทุกคนมีความต้องการแตกต่างกัน ดังนั้น ในการพัฒนากล้องของซัมซุงจะไม่ได้เน้นที่การเพิ่มเฉพาะความละเอียดสูงๆ หรือการนำเซ็นเซอร์กล้องขนาดใหญ่มาใช้งานในสมาร์ทโฟนเท่านั้น

แต่ทางซัมซุง จะมองถึงการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อทำให้ทุกคนสามารถถ่ายภาพสิ่งเดียวกันได้แตกต่างตามความชื่นชอบของแต่ละคน โดยเฉพาะการนำ AI มาช่วยในการเรียนรู้ผู้ใช้ และแสดงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมา

หนึ่งในเทคโนโลยีกล้องที่ซัมซุงนำเสนอในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือ การนำเลนส์เทเลโฟโต้ 2 ระยะ มาทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเพิ่มระยะในการซูมภาพให้ไกลมากยิ่งในชื่อของ ‘Dual-Tel Zoom Lens’ เพื่อทำ Space Zoom ให้แก่ Galaxy S21 Ultra 5G

“การทำงานของ Space Zoom บน Galaxy S21 Ultra ถือเป็นครั้งแรกที่นำกล้องออปติคัล 3x และ 10x มาประมวลผลร่วมกันเพื่อให้สามารถทำ Space Zoom ได้สูงถึง 100x ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการสำรวจการใช้งานของผู้ใช้ว่า ส่วนใหญ่จะนิยมซูมที่ 2-3 เท่า ในการถ่ายภาพ ซึ่งการนำเลนส์เทเล 2 ตัวมาใช้จะช่วยให้ได้ภาพที่มีความคมชัด และเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น”

ตัวอย่างภาพที่ถ่ายจาก Samsung Galaxy S21 Ultra 5G ในระยะซูม เทียบกับกล้อง Full-Frame
เบื้องหลังการออกแบบกล้อง Space Zoom บน Galaxy S21 ยังมีความลับอีกอย่างคือการนำโครงสร้างพับแบบสองชั้น (Dual-Folded) มาใช้ทำให้สามารถเพิ่มเลนส์ซูมออปติคัล 10x ในขนาดใกล้เคียงเดิม

***นำ AI ช่วยปรับปรุงภาพ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ซัมซุงนำเข้ามาใช้งานเพื่อพัฒนาให้การถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนดีขึ้น คือการนำ AI มาช่วยในการประมวลผล โดยเฉพาะการเลือกโหมดถ่ายภาพที่เหมาะสม โดยจะคอยคำนวณจากวัตถุต่างๆ ก่อนปรับค่าให้จับรายละเอียดของวัตถุให้ดีที่สุด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การถ่ายภาพดวงจันทร์ที่ AI จะช่วยคำนวณการถ่ายภาพให้เหมาะสมที่สุด ทำให้สามารถเก็บภาพดวงจันทร์ได้คมชัด และแสดงรายละเอียดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ ยังมีการนำ AI ไปใช้ในโหมดอื่นๆ อย่างการถ่ายภาพโหมดกลางคืน ถ่ายภาพในที่แสงน้อย โหมดการถ่ายภาพบุคคลที่ปรับปรุงให้เก็บรายละเอียดแบบ 3 มิติ ทำให้สามารถใส่เอฟเฟกต์เพิ่มเติมได้ จนถึงการถ่ายภาพ Single Take ที่เป็นโหมดเด่นของ Galaxy ดีไวซ์รุ่นใหม่ๆ ทั้งหมดนี้มีการนำ AI มาใช้ในการประมวลผลด้วยทั้งสิ้น

***พัฒนา ‘จอแสดงผล’ จุดกำเนิดความพึงพอใจ

ต่อมาในเรื่องของการแสดงผล ซัมซุงได้แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมอย่างการนำจอ QHD+ ที่ให้อัตราการรีเฟรช 120 Hz มาใช้งานใน Galaxy S21 Ultra 5G และจนถึงการนำจอ 120 Hz มาใส่ให้ Galaxy A52 5G ใช้งาน

แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการนำเสนอจอแบบ 120 Hz ที่จะช่วยให้การแสดงผลได้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้นเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน การที่ซัมซุงเลือกนำจอแบบ FHD+ 120 Hz มาใช้งานบน S21 และ S21+ ก็เพื่อให้สามารถทำระดับราคาจำหน่ายได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น


ในจุดนี้ ยาง บุนดุก (Yang Byung-duk) รองประธานฝ่ายคอร์คอมโพเนนต์เทคโนโลยี ซัมซุง โมบายล์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นอกเหนือจากการพัฒนาจอแสดงผลรูปแบบใหม่ที่ให้ความละเอียดมากยิ่งขึ้น หรือแม้การปรับแนวทางในการแสดงผลเป็นแบบจอพับแล้ว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การพัฒนาการแสดงผลให้ใช้งานในสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนหลายรุ่นยังมีข้อจำกัดในการใช้งานกลางแจ้ง เช่นเดียวกับเรื่องของการใช้พลังงานที่สูง

ดังนั้น เบื้องหลังเทคโนโลยีที่ซัมซุงนำมาใช้งานกับจอแสดงผล คือ การนำ AI มาช่วยให้การเรียนรู้ เพื่อมอบประสบการณ์แสดงผลให้ดีที่สุดทั้งจาก Adaptive Display ที่จะคอยปรับอัตราการแสดงผลอัตโนมัติ จนถึงการคำนวณการแสดงผลให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด

***เปิดโอกาสพันธมิตรเข้าร่วมอีโคซิสเต็ม SmartThings

สำหรับเทคโนโลยีสุดท้ายที่ ซัมซุง เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือการนำเสนอ SmartThinds ที่เป็นแพลตฟอร์ม IoT ใช้งานร่วมกับทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ของซัมซุง

ก่อนประเดิมด้วยการเพิ่มสินค้าอย่าง SmartTag เข้ามาแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการใช้งาน SmartThings ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นคือเมื่อซัมซุง ตั้งใจพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ และผลักดันให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมใช้งาน ก็จะทำให้อีโคซิสเต็มของซัมซุงสมบูรณ์ขึ้น


แจยอน จอง รองประธานและหัวหน้าทีม SmartThings ซัมซุง โมบายล์ ระบุว่า การพัฒนาแพลตฟอร์ม SmartThings นั้นเกิดขึ้นบนการสร้างระบบนิเวศแบบเปิด ทำให้นักพัฒนาที่เป็นพันธมิตรสามารถเข้าถึง และพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมใช้งานได้

“การนำเสนอ SmartTag แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานความสามารถของ SmartThings Find ให้พันธมิตรเห็นถึงรูปแบบการนำไปใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตถ้ามีพาร์ตเนอร์ที่สนใจนำเทคโนโลยีนี้ไปฝังไว้ในกระเป๋าเดินทาง จักรยานราคาแพง ก็พร้อมที่จะเข้าไปทำงานร่วมกัน”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก SmartThings Find จะเปิดโอกาสให้เฉพาะลูกค้าที่ใช้งาน Galaxy ดีไวซ์เข้าใช้งาน ทำให้ปัจจุบันผู้ที่ใช้งาน iOS หรือ Android แบรนด์อื่นจะไม่สามารถใช้งานได้ แต่ในอนาคตเชื่อว่าด้วยแนวทางที่เปิดกว้าง และช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม จะทำให้แพลตฟอร์มนี้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

ตัวอย่างการนำ SmartTag ไปใช้ในการติดตามค้นหาสิ่งของ และใช้สั่งงานอุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น