ศิริราช เลือกทรู ใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ MEC หนุน 7 โครงการโรงพยาบาล 5G แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านบาท คาดเริ่มใช้งานนำร่องในเดือนพฤษภาคมนี้
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า โรงพยาบาลได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 5G แห่งชาติ ให้เป็น รพ.5G ตัวอย่าง โดยเริ่มนำร่อง 8 โครงการ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) 190 ล้านบาท และ 1 ใน 8 โครงการคือ MEC แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับเทคโนโลยี 5G งบประมาณ 50 ล้านบาท
MEC (Multi-Access Edge Computing) คือมาตรฐานใหม่ในสถาปัตยกรรมเครือข่าย 5G เพื่อช่วยยกระดับวงการสื่อสาร 5G ในไทย โดย MEC เป็นการวางระบบ Edge Computing ให้อยู่ใกล้กับผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่รวดเร็ว และมีความหน่วงในการทำงานต่ำ (Low latency) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบและข้อมูลที่เก็บอยู่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในโรงพยาบาลศิริราช (Local Environment) ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการส่งข้อมูลกลับสู่เครือข่ายเน็ตเวิร์กหลักของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Operator Core Network จึงมีความปลอดภัยสูงมากในการใช้งาน ทำให้ข้อมูลมีการรับส่งอยู่ภายในระบบของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการทำงานของแอปพลิเคชันด้าน Healthcare ต่างๆ ของ รพ.ศิริราชทั้งในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความเร็วในการรับส่งข้อมูล และความเร็วในการตอบสนองของแอปพลิเคชันได้เป็นอย่างดี สนับสนุนให้เกิดการนำอุปกรณ์ไร้สาย 5G มาใช้ในโรงพยาบาล เช่น ระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telehealth ที่พัฒนาโซลูชัน TeleAmbulance Powered by True 5G : Body Camera & Push to Talk เพื่อนำไปใช้สื่อสารในรถพยาบาลฉุกเฉิน ของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้และบุคลากรของโรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนารถอัจฉริยะ 5G ไร้คนขับ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 3 เดือนจะสามารถวางระบบ MEC ดังกล่าวแล้วเสร็จ และจะมีการเปิดตัวโครงการ รพ.อัจฉริยะของศิริราช ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในเดือน พ.ค. ซึ่ง 7 โครงการที่เหลือล้วนเป็นโครงการที่ศิริราชพัฒนานำร่องมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น โครงการรถฉุกเฉินอัจฉริยะ ในการให้เจ้าหน้าที่สามารถใส่แว่นวีอาร์ เพื่อให้แพทย์ได้เห็นคนเจ็บในพื้นที่ก่อนมาถึง รพ. เพื่อเตรียมอุปกรณ์และการรักษาล่วงหน้า การส่งข้อมูลสัญญาณชีพของคนไข้ให้ระบบเอไอวิเคราะห์และคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมการรักษาก่อนเกิดขึ้นจริง การวิเคราะห์ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ผ่านนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ เพื่อลดการพบแพทย์และส่งยาให้ตามอาการ การใช้ระบบเอไอในการวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ การขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับใน รพ. เป็นต้น
ปัจจุบัน รพ.ศิริราชได้มีการนำความอัจฉริยะของเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาระบบการให้บริการด้านการแพทย์ และรักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนสนับสนุนการทำงานแก่บุคลากรทางการแพทย์ มุ่งสู่การเป็น “โรงพยาบาลอัจฉริยะ หรือ Smart Hospital” ตามแผนยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ควบคู่ยุทธศาสตร์ 5G ของชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อบทบาทของศิริราชทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศอย่างแน่นอน นอกจากการนำทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อพัฒนาในระบบบริการทางการแพทย์แล้ว ยังจะเกิดขึ้นกับการเรียนการสอนและการวิจัยอีกด้วย
ดังนั้น การนำ MEC แพลตฟอร์มคลาวด์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ 5G มาพัฒนารูปแบบการใช้งาน 5G (Use Case) ให้เกิดขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ตอบโจทย์การเกิดโรงพยาบาลอัจฉริยะ และศิริราชเป็นหน่วยงานแรกของประเทศในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาระบบริการทางการแพทย์
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรูมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่นที่ตรงกัน คือเพื่อพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศไทย และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย
ที่ผ่านมา ได้นำความอัจฉริยะของเทคโนโลยีอย่างทรู 5G มาร่วมพัฒนา วิจัย และทดสอบรูปแบบการใช้งาน (Use Case) ให้ตรงกับความต้องการจริงของผู้ใช้บริการในหลากหลายด้าน ในครั้งนี้ด้วยความพร้อมของทรู 5G ทำให้ได้รับเลือกจาก รพ.ศิริราชให้เป็นผู้ที่นำ MEC หนึ่งในเทคโนโลยี5G ที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำโซลูชัน และ Use Case 5G ในอนาคต มาร่วมยกระดับการพัฒนา Use Case ของ รพ.ศิริราช เพื่อใช้งานจริงในวงการสาธารณสุขไทย
นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความสำคัญของ MEC (Multi- Access Edge Computing) คือการเอา Cloud Distribute ไปเป็น Edge Cloud ย่อยๆ ที่จะอยู่ใกล้ปลายทาง หรือการวางระบบ Edge Computing ให้อยู่ใกล้กับผู้ใช้งานมากที่สุด ทำให้การประมวลผลง่ายขึ้น มี Response time ดีขึ้นมาก สะท้อนความโดดเด่นของ 5G ในเรื่อง Low Latency หรือความหน่วงต่ำ (เมื่อทำงานร่วมกับเครือข่าย 5G SA ) ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการใช้งานกับ IOT และการทำ AI รวมทั้งให้ความมั่นใจยิ่งขึ้นในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล