xs
xsm
sm
md
lg

AIS นำ NB-IoT ช่วยธุรกิจเรือยอชต์ ให้บริการ “Digital Yacht Quarantine”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีป้าเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภูเก็ตเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3.2 แสนล้านบาท ผนึก AIS POMO และผู้ประกอบการเรือยอชต์นำเทคโนโลยีส่งเสริม “โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์-Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย ด้วยศักยภาพโครงข่าย AIS NB-IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ”

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า โควิด-19 ได้เข้ามาสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2563 ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท

โดยทางดีป้า ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัทพีเอ็มเอชโฮลดิ้ง จำกัด (POMO) กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้ในจังหวัดภูเก็ต

"การพัฒนาแพลตฟอร์มนี้สตาร์ทอัปเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทำได้ เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะสามารถเรียกกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายต่อวันมากกว่า 3,000 บาท กลับมาสู่จังหวัดภูเก็ตได้"


สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้งานในแพลตฟอร์มนี้ ประกอบไปด้วยโครงข่าย NB-IoT บนคลื่นความถี่ 900 MHz ของทางเอไอเอส ที่เชื่อมต่อกับสายรัดข้อมือสุขภาพของ POMO ในการเก็บข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่เข้ามากักตัว และช่วยส่งเสริมความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยว

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า จุดเด่นของคลื่น NB-IoT คือสามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม. เมื่อนำมาผสมผสานกับแพลตฟอร์ม Cloud ในการเก็บข้อมูล ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับทาง POMO จะส่งข้อมูลกลับมาให้แพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ตลอดช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน

ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ได้เริ่มโครงการ Yacht Quarantine มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 และมีสถิติการติดเชื้อเป็นศูนย์ ซึ่งได้รับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คาดว่าภายในปี 2564 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน

ในขณะที่โครงการ Digital Yacht Quarantine ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างมาตรฐานใหม่ของการท่องเที่ยวแบบ New Normal พร้อมขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ สอดรับกับนโยบาย “ภูเก็ตโมเดล (GEMMSS)” กระตุ้นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมายังภูเก็ตมากขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว




กำลังโหลดความคิดเห็น