xs
xsm
sm
md
lg

Facebook เก็บกวาด! ไล่ลบเนื้อหา "สร้างความเข้าใจผิด" ไทย อิหร่าน โมร็อกโก รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพซีอีโอ Facebook มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ล่าสุด Facebook ระบุว่าหากค้นพบตัวอย่าง CIB ที่เกิดขึ้นโดยตัวแทนภาครัฐหรือผู้ดำเนินการต่างประเทศ Facebook จะนำมาตรการควบคุมที่ครอบคลุมที่สุดมาใช้
เฟซบุ๊ก (Facebook) แจงรายละเอียดลบเนื้อหาไทย โมร็อกโก และรัสเซีย ระบุเป็นเนื้อหาที่มีพฤติกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนคนในประเทศ ยังมีประเทศอิหร่านที่ถูกลบเนื้อหาซึ่งเจาะจงโจมตีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศ

นาธาเนียล ไกลเชอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายความปลอดภัยไซเบอร์ของ Facebook อธิบายถึงสถิติการลบเนื้อหาบน Facebook ในรายงาน CIB กุมภาพันธ์ 2564 ว่า ทีมงาน Facebook ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหาและลบแคมเปญต่างๆ ที่มีการประสานงานอย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งบิดเบือนบทสนทนาสาธารณะบนแอปพลิเคชันในเครือ Facebook หรือสร้างความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไป ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน (Coordinated Inauthentic Behavior หรือ CIB) รายงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สรุปว่า Facebook ได้ลบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้จำนวน 5 เครือข่ายที่เป็นอิสระและไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันในประเทศไทย อิหร่าน โมร็อกโก และรัสเซีย แบ่งเป็นเครือข่าย 2 แห่งจากอิหร่านที่เจาะจงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศ และอีก 3 เครือข่ายจากประเทศไทย โมร็อกโก และรัสเซีย ที่มุ่งเจาะจงกลุ่มคนภายในประเทศตนเอง

ในส่วนของประเทศไทย Facebook ได้ลบบัญชีผู้ใช้ Facebook จำนวน 77 บัญชี เพจ Facebook จำนวน 72 เพจ กลุ่ม Facebook จำนวน 18 กลุ่ม และบัญชีผู้ใช้ Instagram จำนวน 18 บัญชี ที่พบว่ามีการละเมิดนโยบายว่าด้วยเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งเป็นพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน ในนามของหน่วยงานรัฐบาล เครือข่ายนี้มีจุดเริ่มต้นในประเทศไทยและเจาะจงไปที่กลุ่มคนภายในประเทศในจังหวัดแถบภาคใต้ กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายนี้ใช้ทั้งบัญชีผู้ใช้จริงและบัญชีปลอมในการบริหารกลุ่มและเพจต่างๆ

"บางส่วนถูกตรวจจับได้และโดนระงับโดยระบบอัตโนมัติไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงเพจที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับทางทหารอย่างชัดเจน และเพจที่ไม่ได้เปิดตัวว่ามีความเกี่ยวข้องกับทางทหาร กลุ่มคนดังกล่าวยังได้โพสต์เนื้อหาของพวกเขาในเพจต่างๆ เพื่อให้เห็นว่ามีความนิยมในเนื้อหานั้นๆ มากกว่าความเป็นจริง บัญชีผู้ใช้ปลอมบางส่วนแสร้งเป็นบุคคลทั่วไปจากภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงแสร้งเป็นผู้หญิงวัยรุ่น โดยใช้รูปโปรไฟล์ที่ได้มาจากบริการภาพสต๊อก ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วการโพสต์ต่างๆ ของเพจเกิดขึ้นในปี 2563" แถลงการณ์ระบุ

เครือข่ายดังกล่าวโพสต์คอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ครอบคลุมข่าวและเหตุการณ์ประจำวัน ซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่สนับสนุนกองทัพไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ การเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง อัปเดตสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในแถบภูมิภาค การกล่าวหาเรื่องความรุนแรงโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย และการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการแยกตัวเป็นอิสระ แม้ว่ากลุ่มคนเบื้องหลังเครือข่ายนี้ได้พยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริงและขั้นตอนการประสานงาน แต่การตรวจสอบของ Facebook ได้พบความเชื่องโยงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของกองทัพไทย

เพจบน Facebook และ Instagram ที่ถูกลบไปมีผู้ติดตามรวม 703,000 บัญชี ขณะที่บัญชีผู้ใช้ราว 100,000 บัญชีได้เข้าร่วมกลุ่มเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม และประมาณ 2,500 คนได้ติดตามบัญชีผู้ใช้ Instagram อย่างน้อยหนึ่งบัญชีหรือมากกว่า ทั้งหมดนี้มีเม็ดเงินโฆษณามูลค่าราว 350 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,615 บาท) ถูกใช้เพื่อการโฆษณาบน Facebook และ Instagram โดยชำระเงินด้วยสกุลบาทไทย

"Facebook ค้นพบบัญชีเหล่านี้ผ่านการสืบสวนภายในองค์กรของเราในกลุ่มพฤติกรรมที่มีความน่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับ CIB ในแถบภูมิภาคนี้"

สำหรับเครือข่ายอื่นที่ถูกลบในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้นอยู่ในอิหร่าน เจ้าพ่อเครือข่ายสังคมระบุว่า ได้ลบบัญชีผู้ใช้ Facebook จำนวน 446 บัญชี เพจ Facebook จำนวน 4 เพจ กลุ่ม Facebook จำนวน 3 กลุ่ม และบัญชีผู้ใช้ Instagram จำนวน 2 บัญชี ซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นในประเทศอิหร่าน และเจาะจงไปที่ประเทศอิรักเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาที่ประเทศอิสราเอล สหราชอาณาจักร และอัฟกานิสถาน การตรวจสอบพบความเชื่อมโยงถึงกลุ่มบุคคลในกรุงเตหะราน การพบเครือข่ายเหล่านี้เกิดจากการตรวจสอบรายงานสาธารณะเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่เจาะจงไปยังประเทศอิสราเอล ทีมสืบสวนภายในองค์กรจึงได้ค้นพบเครือข่ายในวงกว้างขึ้น

ขณะเดียวกัน Facebook ยังลบบัญชีผู้ใช้ Facebook ในอิหร่านอีก 7 บัญชี เพจ Facebook จำนวน 4 เพจ และบัญชีผู้ใช้ Instagram จำนวน 16 บัญชี ซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นในประเทศอิหร่าน โดยเจาะจงทั้งผู้คนในประเทศอิหร่านเอง รวมถึงต่างประเทศอย่างเลบานอน อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การตรวจสอบพบความเชื่อมโยงถึงกับกลุ่มบุคคลทางวิชาการในประเทศอิหร่าน

Facebook พบว่าเพจบน Facebook และ Instagram ของไทยที่ถูกลบไปตลอด ก.พ.64 มีผู้ติดตามรวม 703
ด้านโมร็อกโก Facebook เผยว่า ได้ลบบัญชีผู้ใช้ Facebook จำนวน 385 บัญชี เพจ Facebook จำนวน 6 เพจ และบัญชีผู้ใช้ Instagram จำนวน 40 บัญชี ซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นในประเทศโมร็อกโก และเจาะจงผู้คนภายในประเทศเอง การพบเครือข่ายดังกล่าวจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนเล็กๆ ของกระบวนการนี้ ซึ่งได้รับการแจ้งโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

สำหรับรัสเซีย บริษัทได้ลบบัญชีผู้ใช้ Instagram จำนวน 530 บัญชี ซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นในประเทศรัสเซีย และเจาะจงผู้คนภายในประเทศเองผ่านการประท้วงสนับสนุนอเล็กเซ นาวาลนี นักกิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชันและนักการเมืองฝ่ายค้านในประเทศรัสเซีย การตรวจพบและระงับบัญชีผู้ใช้งานส่วนใหญ่ทำผ่านทางระบบตรวจสอบอัตโนมัติทันทีที่เริ่มโพสต์

Facebook ระบุถึงจุดประสงค์การจัดทำรายงานว่า.ในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้แบ่งปันสิ่งที่ Facebook ตรวจพบและลบเกี่ยวกับพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนแพลตฟอร์ม โดยส่วนหนึ่งของการรายงานประจำด้าน CIB นี้ Facebook ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายต่างๆ ที่ Facebook ได้ลบไปในช่วง 1 เดือน เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถทราบถึงความคืบหน้าได้อย่างชัดเจนรวมไว้ในที่เดียว

นอกจากนี้ Facebook มองว่า CIB เป็นความพยายามร่วมกันในการกำกับบทสนทนาสาธารณะซึ่งมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์โดยการใช้บัญชีผู้ใช้ปลอมเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติการ สามารถแบ่งประเภทของกิจกรรมที่ Facebook มุ่งหยุดการดำเนินการได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) พฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนท่ามกลางบริบทภายในประเทศ และเป็นแคมเปญที่ไม่ได้กำกับควบคุมโดยรัฐ 2) พฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนในนามของผู้ดำเนินการจากต่างประเทศหรือจากภาครัฐ

นิยามพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน (CIB - Coordinated Inauthentic Behavior) คือสิ่งที่ Facebook ค้นพบแคมเปญที่เกิดขึ้นภายในประเทศและไม่ได้กำกับโดยรัฐ ซึ่งรวมถึงกลุ่มต่างๆ ของบัญชีผู้ใช้งานและเพจที่มุ่งสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงและการกระทำต่างๆ ผ่านบัญชีปลอม หากพบ Facebook ระบุว่าจะทำการลบทั้งบัญชีผู้ใช้จริงและบัญชีปลอม เพจ และกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นๆ โดยตรง

ในส่วนการแทรกแซงจากต่างประเทศหรือรัฐบาล (FGI - Foreign or Government Interference) Facebook ระบุว่า หากค้นพบตัวอย่าง CIB ที่เกิดขึ้นโดยตัวแทนภาครัฐหรือผู้ดำเนินการต่างประเทศ Facebook จะนำมาตรการควบคุมที่ครอบคลุมที่สุดมาใช้ ซึ่งรวมถึงการลบข้อมูลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ รวมถึงกลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินงานนั้นๆ

Facebook ยังย้ำถึงนโยบายการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะมีการเฝ้าระวังความพยายามของเครือข่ายต่างๆ ซึ่ง Facebook ได้ลบไปแล้วไม่ให้มีการกลับคืนสู่ Facebook อีก โดยใช้ทั้งระบบการตรวจสอบอัตโนมัติและการตรวจสอบโดยมนุษย์ พร้อมกับคอยลบบัญชีผู้ใช้งานและเพจที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่ Facebook ได้ระงับไปแล้วก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น