xs
xsm
sm
md
lg

อินเว้นท์ลงทุน 2 สตาร์ทอัปไทย "Datafarm" คู่ "Swift Dynamics" รับ 5G โต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Sentenance หนึ่งในบริการดาวรุ่งของบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัปรายใหม่ที่อินเว้นท์กำลังลงทุนคู่กับบริษัท ดาต้าฟาร์ม
อินเว้นท์ (InVent) โครงการธุรกิจร่วมลงทุนภายใต้บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช ร่วมลงทุนในเทคสตาร์ทอัป (Tech startup) 2 บริษัท คือ ดาต้าฟาร์ม (Datafarm) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ในรอบ Series A และสวิฟท์ ไดนามิคส์ (Swift Dynamics) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และคำปรึกษาด้านการก่อสร้าง ซ่อมบำรุงอาคาร สิ่งก่อสร้างผ่านระบบคลาวด์และเทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things (IoT)) ในรอบ Pre-Series A

ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีของอินเว้นท์ที่ได้ร่วมลงทุนกับดาต้าฟาร์ม และสวิฟท์ ไดนามิคส์ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทต่างเป็นสตาร์ทอัปแถวหน้าของประเทศไทยในอุตสาหกรรม Cybersecurity และ IoT โดยเทคโนโลยีของทั้งดาต้าฟาร์ม และสวิฟท์ ไดนามิคส์สามารถช่วยยกระดับบริษัทคู่ค้าในการก้าวเข้าสู่ยุค 5G ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้ Cybersecurity มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อลูกค้าองค์กรในการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ 

ในขณะที่ IoT ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการเก็บข้อมูลพารามิเตอร์ของอุปกรณ์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Smart City Smart Home และ Smart Manufacturing พร้อมประมวลผลและแจ้งเตือนผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์

ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล Head of InVent by INTOUCH
“ปัจจุบันองค์กรมีการปรับเปลี่ยนการทำงานจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้งานมีการเชื่อมต่อไฟร์วอลล์ขององค์กรจากภายนอกส่งผลให้องค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น โซลูชันของดาต้าฟาร์ม สามารถช่วยองค์กรลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรควบคู่กัน ในส่วนของสวิฟท์ ไดนามิคส์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการการก่อสร้าง ซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งก่อสร้างในรูปแบบใหม่โดยนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ที่อยู่บนคลาวด์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การใช้ทรัพยากรของลูกค้าองค์กร รวมทั้งยังเป็นการช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็น Smart City ได้อีกด้วย”

ดาต้าฟาร์ม (Datafarm) เป็นผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับองค์กร สตาร์ทอัปไทยรายนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ให้บริการทดสอบเจาะระบบ และบริการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ลูกค้าองค์กรด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีใบรับรองระดับมืออาชีพโดยให้บริการใน 3 ส่วน ทั้ง Penetration Testing (Pentest) การทดสอบเจาะระบบเพื่อค้นหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นช่องทางที่ Hacker ใช้เพื่อโจมตี เข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลสำคัญขององค์กร โดยทีมผู้ทดสอบที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการจำลองการโจมตีและวิธีการจัดการตามมาตรฐานระดับสากล


ยังมี Vulnerability Assessment (VA) การตรวจหาช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนด้านเทคนิคอล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีช่องโหว่ การเปิดใช้งานเซอร์วิสที่เกินกว่าความจำเป็น และการตั้งค่าการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น โดยการทำ VA จะใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการสแกนระบบเป้าหมายเพื่อตรวจหาช่องโหว่ โดยไม่ได้มีการโจมตีระบบจริงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะช่องโหว่ในระบบคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย 

รวมถึงบริการ Cybersecurity Consulting บริการให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลและภัยคุกคามในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เช่น NIST Cybersecurity Framework, ISO/IEC 27001, PCI-DSS, PDPA/GDPR

นายพิสุทธิศักดิ์ จงบุญเจือ ประธานบริหารบริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า การลงทุนจากอินเว้นท์ในครั้งนี้ช่วยสนับสนุนให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน Cybersecurity ซึ่งคนไทยมีความสามารถทางด้านนี้ไม่แพ้ต่างชาติ และสร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมืออัตโนมัติที่ช่วยในการตรวจหาช่องโหว่และประเมินความเสี่ยงของระบบ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) รวมไปถึงกลุ่ม Startup และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเน้นที่ความง่ายในการใช้งาน มีราคาที่เหมาะสม จับต้องได้ และสามารถนำไปอ้างอิงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ ได้ ซึ่งจะเปิดตัวภายในสิ้นปีนี้

พิสุทธิศักดิ์  จงบุญเจือ CEO Datafarm
“นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมืออย่างดีมากจากทาง AIS ในการเป็น Partner สำหรับทำให้บริการต่างๆ ทางด้าน Cybersecurity ของเรา สามารถไปถึงองค์กรในประเทศไทยได้วงกว้างมากขึ้น จากการสนับสนุนทางด้านเงินทุนและความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทในเครือของอินทัช และความตื่นตัวของตลาด Cybersecurity ที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทคาดการณ์การเติบโตของรายได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 300% และขยายบริการในการเป็นที่ปรึกษาทางด้าน Cybersecurity อย่างครบวงจรให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันและยกระดับความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ในภาพรวมของทั้งประเทศ” 

สำหรับสวิฟท์ ไดนามิคส์ (Swift Dynamics) เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และคำปรึกษาด้านการก่อสร้างและซ่อมบำรุงผ่านเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things และ 5G ทั้ง 2 เป็นเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนให้งานก่อสร้างพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สวิฟท์ ไดนามิคส์เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มบริหารจัดการงานก่อสร้างและซ่อมบำรุงอาคารด้วยเทคโนโลยี IoT ที่บริษัทพัฒนาและเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายที่หลากหลาย เช่น WiFi, NB-IoT และ 4G/5G 

บริการของสวิฟท์ ไดนามิคส์สามารถเชื่อมต่อ API เพื่อรองรับซอฟต์แวร์ของผู้ให้บริการอื่นๆ (3rd party) และสามารถขยายการใช้งานไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ทั้งสำนักงาน อาคาร และโรงงาน สวิฟท์ ไดนามิคส์ให้บริการแพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Sitearound เพื่อยกระดับงานก่อสร้างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เป็นระบบดิจิทัล และแพลตฟอร์ม Sentenance สำหรับระบบบริหารอาคารและซ่อมบำรุงด้วยโซลูชันด้าน IoT 


การใช้เทคโนโลยี 5G ที่รองรับการเชื่อมต่อแบนด์วิธความถี่สูง (high bandwidth) ทำให้วิศวกรภาคสนาม และช่างซ่อมบำรุงสามารถสื่อสารกับสำนักงานใหญ่ได้อย่างไม่สะดุด ผ่าน Sitearound และ Sentenance และสามารถถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในเวลาที่น้อยลงซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มผลกำไรให้แก่องค์กรได้

ดร.นที สิงหพุทธางกูร ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า สวิฟท์ ไดนามิคส์เป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่โซลูชันมี IoT เป็นจุดเด่น โดยสวิฟท์ ไดนามิคส์มี 2 โซลูชันหลักซึ่งนำ IoT บนเครือข่าย 5G มาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ Sitearound ซึ่งใช้ในการบริหารโครงการก่อสร้าง และโซลูชันที่สองชื่อว่า Sentenance ที่ใช้ในการช่วยบำรุงรักษาอาคารและโรงงาน ซึ่งในปัจจุบัน Sitearound และ Sentenance ได้ถูกนำไปใช้โดยบริษัทชั้นนำของประเทศไทยจากหลากหลายอุตสาหกรรม

ดร.นที-CEO และ นิกม์-CTO Swift Dynamics
“เป้าหมายถัดไปของเราคือการนำ AI มาเสริมเพื่อให้การทำงานของทั้ง 2 โซลูชันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งงานบริหารจัดการโครงการ กระบวนการผลิต และงานซ่อมบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (predictive maintenance) โดยสวิฟท์ ไดนามิคส์ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้งาน IoT เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและทำให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้น”

นายนิกม์ เจริญสวัสดิ์ ประธานบริหารด้านเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สวิฟท์ ไดนามิคส์มีแผนที่จะขยายธุรกิจทั้ง Sitearound และ Sentenance ไปยังต่างประเทศ ซึ่งในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ IoT กว่า 21.5 พันล้านชิ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดรายได้กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทตั้งเป้าผลักดันให้ Sitearound และ Sentenance ให้เป็นแพลตฟอร์มระดับสากล

ที่สุดแล้ว อินทัชเชื่อมั่นว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้งานบนเครือข่าย 5G จะเป็นประโยชน์แก่คนในสังคมยุคดิจิทัล และการใช้งานเพื่อการพาณิชย์ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น