xs
xsm
sm
md
lg

สรุปเหตุการณ์สำคัญปี 2563 ผ่านมุมมอง Google - Facebook

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในทุกๆ ปี บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จะมีการจัดลำดับหรือคัดเลือกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงทิศทางของสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

แน่นอนว่า โควิด-19 ได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดของปีนี้ ซึ่งทำให้บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องมีการปรับตัว และเข้ามาช่วยเหลือทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากไปด้วยกัน

***‘เราไม่ทิ้งกัน’ คำคนไทยเสิร์ชหามากที่สุดบน Google

เริ่มกันที่กูเกิล (Google) แหล่งค้นหาข้อมูลที่คนไทยใช้งานมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ได้ออกมาประกาศคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 ผ่านสายตา และการค้นหาของผู้คนในประเทศไทย ผสมผสานกับข้อมูลจาก Google Trends ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้

โดยทางกูเกิล ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้เข้ามาส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำเนินธุรกิจของคนไทยทั้งประเทศ ในฐานะของการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ได้มีการนำเครื่องมือต่างๆ ของกูเกิลเข้าไปช่วยเหลือ


ทั้งสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลในช่วงสถานการณ์กักตัว จนถึงการเพิ่มฟีเจอร์เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ที่ถูกต้อง และมีการคัดกรองเนื้อหาให้ดีที่สุด จนถึงการนำเครื่องมือออนไลน์เข้าไปช่วยผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้มาอยู่บนโลกออนไลน์ และช่วยผู้บริโภคค้นหาได้ง่ายขึ้น

จาก 10 อันดับคำค้นหาประจำปี 2563 นี้ พบว่า 5 ใน 10 ของคำค้นหายอดนิยมมาจากโครงการของรัฐบาลที่เข้าไปช่วยเยียวยาประชาชน ลดรายจ่าย และช่วยฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในวงกว้าง และช่วยให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงโครงการช่วยเหลือต่างๆ อย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นโครงการอย่าง เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เยียวยาเกษตรกร เราเที่ยวด้วยกัน จนถึงลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ ซึ่งแต่ละโครงการมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป ทำให้คนไทยมีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้จำนวนมาก

รวมไปถึงการค้นหาในหมวดของ How to หรือวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้คนละครึ่ง วิธีลงทะเบียนค่าไฟ วิธีทำหน้ากากอนามัย วิธีทำเจลล้างมือ จนถึงวิธีลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ซึ่งทั้งหมดยังเป็นการค้นหาที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19

นอกเหนือจากโครงการช่วยเหลือแล้ว โควิด-19 ได้กลายเป็นคำที่คนไทยค้นหามากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 และเป็นลำดับแรกในหมวดของข่าว เนื่องจากผู้คนต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมานี้

***กระตุ้น ‘การศึกษาออนไลน์’

ต่อเนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อให้บุตรหลานสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ส่งผลให้ ‘DLTV’ เป็นคำค้นหาลำดับที่ 4 ในหมวดยอดนิยม และ ‘เรียนออนไลน์’ ขึ้นอันดับ 1 ในหมวดของการเรียนรู้

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม คือการที่กระทรวงศึกษาฯ ได้ประกาศให้แพลตฟอร์มการเรียนการสอนทางไกล DLTV เป็นช่องทางหลักให้นักเรียนทั่วประเทศได้ศึกษาหาความรู้ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ปกครองมีการหาข้อมูลช่องทางในการรับชมเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน การทำอาหารได้กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้คนไทยมีการค้นหาสูตรอาหารทั้งทำรับประทานที่บ้าน จนถึงทำขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี ทั้งสูตรหมูแดดเดียว สูตรบราวนี่ สูตรขนมครก เป็นต้น

***ผ่อนคลายผ่าน ‘สถานที่เที่ยวไทย’

ในช่วงหลังจากผ่านสถานการณ์ล็อกดาวน์ และเริ่มมีการเดินทางในประเทศมากขึ้น หมวดหมู่คำค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศกลายเป็นอีกกลุ่มที่คนไทยมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่ปัจจุบันยังมีการระงับเที่ยวบินจากต่างประเทศ และขั้นตอนการกักตัวต่างๆ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศไม่สามารถทำได้ในปีนี้ และสถานที่เที่ยวในไทยฟื้นฟูขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น


โดยการค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ เน้นธรรมชาติ ภูเขา และอากาศเย็นสบาย ทำให้ที่เที่ยวใน เชียงใหม่ เชียงราย เขาค้อ และกาญจนบุรี ได้รับความนิยม

ถัดมาคือชายทะเล ซึ่งกลายเป็นว่ามีการค้นหาที่เที่ยวในสุราษฎร์ธานีมากที่สุด ตามด้วยพัทยา หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และระยอง ที่คนไทยให้ความสนใจ

ขณะเดียวกัน บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางในการสร้างความบันเทิงในช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้การค้นหาข้อมูลภาพยนตร์ที่ฉายใน Netflix อย่าง 365 DNI กลายเป็นคำค้นหายอดนิยมในหมวดหมู่ จากปกติที่จะเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนต์ทั่วไป

***พฤติกรรมคนเปลี่ยนหลัง ‘โควิด-19’

ในมุมของเฟซบุ๊ก (Facebook) นอกจากการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งการตื่นตัวทางสังคม อย่างการออกมารวมตัวกันเรียกร้อง #BlackLivesMatter ทั่วโลก และ #Whatshappeninginthailand ที่ชาวไทยให้ความสนใจกับเรื่องทางสังคม และกล้าพูดมากขึ้น

ยังพบว่าช่องทางออนไลน์ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ชุมชนต่างๆ ยังสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก อย่างแคมเปญร่วมกันสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น (Support Small Business) จนทำให้ธุรกิจ SMEs กว่า 46% ยังเห็นความหวังเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


พร้อมกันนี้ เฟซบุ๊กได้เผยแพร่ผลการศึกษาร่วมกับทาง OECD และ World Bank เกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ พบว่า กว่า 15% ของธุรกิจ SMB ทั่วโลกปิดกิจการลง หรือธุรกิจที่กลับมาเปิดใหม่หลังล็อกดาวน์จะเผชิญกับปัญหาทางการเงิน ส่วนธุรกิจที่อยู่รอดกว่า 55% พบว่ายอดขายลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของ SMB มีการปรับลดจำนวนพนักงานลง และกว่า 45% ของธุรกิจขนาดกลาง และเล็กในเอเชียแปซิฟิก มียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน

สิ่งหนึ่งที่เฟซบุ๊กชี้ให้เห็นชัดเจนคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Tranformation) ได้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ธุรกิจ และบริการต่างๆ ต้องหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อตอบรับการความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในปี 2020 การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ทุกคนคาดไว้ การเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 2-3 ปีกลับเกิดขึ้นภายในปีเดียว”




ทำให้ในปี 2563 นี้ได้เห็นการตื่นตัวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซของธุรกิจที่หลากหลาย แม้ว่าหลายๆ ธุรกิจจะยังไม่มีความพร้อม แต่ก็ต้องก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด โดยในมุมของเฟซบุ๊ก ได้วางเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจให้อยู่รอด และเติบโตต่อไปในอนาคต

*** ‘เอเชีย’ กลายเป็นภูมิภาคสร้างการเติบโต

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทอินเทอร์เน็ตแทบทั้งหมดหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้

รวมถึงเฟซบุ๊กก็เช่นกันที่ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้เฟซบุ๊กเติบโต จากจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำกว่า 727 ล้านราย ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

โดยทางเฟซบุ๊กคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 จำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากภูมิภาคเอเชีย หรือคิดเป็นจำนวนผู้ใช้ใหม่ราว 266 ล้านราย ทำให้ประชากรกว่า 3 พันล้านคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (70% ของจำนวนประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก)

***ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

หนึ่งในสิ่งที่เฟซบุ๊กเผชิญกับข้อร้องเรียนมากที่สุด คือ การคัดกรองข้อมูลที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เฟซบุ๊กต้องมีการตั้งศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนกว่า 2 พันล้านคน เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง

ในจุดนี้ต้องยอมรับว่า เฟซบุ๊กสามารถควบคุมข้อมูลการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ด้วยการเข้าไปร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละประเทศ จัดทำศูนย์รวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือขึ้นมาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ และมีการคัดกรองข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือออกไป


กำลังโหลดความคิดเห็น