นูทานิคซ์ (Nutanix) ขยายบริการด้านสตอเรจสู่แพลตฟอร์มไฮบริดคลาวด์ ติดอาวุธให้สตอเรจโซลูชันของบริษัทสามารถใช้งานได้ทั้งเอดจ์ บนไพรเวต และพับลิกคลาวด์อย่างอะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS) และไมโครซอฟท์อาซัวร์ (Microsoft Azure) ถือเป็นการพร้อมชนกับคู่แข่งอย่างวีเอ็มแวร์ (VMware) ที่รองรับแล้วไปก่อนหน้านี้ ยืนยันบริษัทอยู่ระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เก็บค่าบริการสมัครสมาชิกแบบเต็มตัว เบื้องต้น วางเป้าคลอด 6 บริการ “as a service” เพื่อปฏิวัติตลาดคลาวด์องค์กรในระยะยาว
นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ กล่าวว่า นูทานิคซ์กำลังเปลี่ยนผ่านตัวเองจากธุรกิจที่เริ่มจากการเป็นโซลูชันเพื่อการทำไพรเวตคลาวด์ มาเป็นธุรกิจที่ทำให้ไอทีในองค์กรเป็นบริการที่ใช้งานง่ายและรวดเร็ว (as a Service) เหมือนบริการอีเมลที่สมัครง่ายและองค์กรไม่ต้องลงทุนพัฒนาระบบทางเทคนิคมากให้เหนื่อย ขอบข่ายการวางแผนบริการ as a Service ของบริษัทครอบคลุม 6 ด้านในขณะนี้ ได้แก่ ระบบเก็บข้อมูลหรือสตอเรจ ระบบรักษาความปลอดภัยหรือซิเคียวริตี ระบบให้บริการแอปพลิเคชัน ระบบฐานข้อมูลหรือดาต้าเบส ระบบเครื่องพีซีหรือเดสก์ท็อป และระบบให้บริการ IoT ซึ่งแผนนี้แม้จะทำให้ นูทานิคซ์สามารถกินรวบ 6 ตลาดระบบไอทีองค์กรให้อยู่ในชายคาบริษัทก็จริง แต่ประเด็นใหญ่กว่าที่นูทานิคซ์มองคือ อนาคตที่บริการ as a service ของบริษัทจะขยายไปได้กว้างกว่า 6 บริการนี้อีก
“เราเริ่มที่การดูที่องค์กรซึ่งมีความต้องการใช้เทคโนโลยีไม่เท่ากัน และมีระดับความก้าวหน้าของแต่ละองค์กรไม่เท่ากัน รวมถึงการตระหนักรู้ขององค์กรก็ไม่เท่ากัน นูทานิคซ์จึงพัฒนาคลาวด์แพลตฟอร์มที่ลงบนเซิร์ฟเวอร์แบรนด์อะไรก็ได้ สามารถเอาซอฟต์แวร์นูทานิคซ์มาติดในเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ เพื่อให้ไอทีของบริษัทให้บริการตามที่ต้องการได้ เช่น สร้างพื้นที่จัดเก็บขนาด 100 เทอราไบต์ สร้างเซิร์ฟเวอร์ 10 เซิร์ฟเวอร์ อยากได้แอปพลิเคชัน อยากได้ดาต้าเบส อยากได้เดสก์ท็อป ทุกอย่างทำให้เป็น as a Service ได้ 6 ด้าน”
โมเดลธุรกิจ as a Service จะทำให้นูทานิคซ์มีรายได้จากค่าสมาชิกที่สมัครรับบริการเป็นหลัก เป็นการต่อยอดจากที่บริษัทเริ่มต้นเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน รายได้สมาชิกซอฟต์แวร์ของบริษัทดินสัดส่วนราว 70% ขณะที่รายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อพัฒนาไพรเวตคลาวด์นั้นหดตัวเหลือ 10%
หนึ่งในซอฟต์แวร์หลักของนูทานิคซ์คือคลัสเตอร์ (Nutanix Clusters) ซึ่งเป็นบริการด้านพื้นที่เก็บข้อมูล หรือสตอเรจ (Storage as a Service) ที่ทำให้ลูกค้าของนูทานิคซ์สามารถขยายสตอเรจให้แก่ข้อมูลที่ไม่สามารถแยกประเภทได้ง่ายบนสภาพแวดล้อมคลาวด์ที่แตกต่างกัน ลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการข้อมูลและบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการช่วยให้ทีมงานด้านไอทีเข้าใกล้การใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริดคลาวด์อย่างแท้จริงแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากเดิมโซลูชัน Nutanix Clusters สนับสนุนการใช้งานซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานไฮเปอร์คอนเวิร์จของนูทานิคซ์บน AWS แต่ล่าสุด กำลังปรับให้มีใช้บน Microsoft Azure ในอนาคต จุดนี้นูทานิคซ์ย้ำว่ายังคงพัฒนาให้เทคโนโลยีของบริษัทสามารถทำงานบนคลาวด์ประเภทใดก็ได้ ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้โมเดลการทำงานที่เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อปรับปรุงการจัดการด้านไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้องค์กรต่างๆ มีความยืดหยุ่นในการใช้ทุกแอปพลิเคชันขององค์กรบนคลาวด์ที่เลือกเองได้ตามต้องการ
การขยายการใช้งานซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานไฮเปอร์คอนเวิร์จ (HCI) ไปยังพับลิกคลาวด์จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถใช้ HCI บนพับลิกคลาวด์ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการรองรับไฮบริดคลาวด์ที่คู่แข่งอย่าง VMware ก็ประกาศมาแล้วก่อนหน้านี้เช่นกัน
นายสุรักษ์ ธรรมรักษ์ ผู้จัดการแผนกวิศวกรระบบ นูทานิคซ์ ประเทศไทย ระบุว่า นอกจาก Storage as a Service บริการที่นูทานิคซ์โฟกัสคือแพลตฟอร์มบริหารจัดการดาต้าชื่อ Era ซึ่งถูกเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถบริหารจัดการดาต้าที่อยู่บนไฮบริดและมัลติคลาวด์ได้แบบเป็นเนื้อเดียว โดย Era นั้นเป็นโซลูชันที่รองรับการบริหารจัดการดาต้าเบส ที่ทำให้ทีมไอทีให้บริการ Database as a Service ได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดใด ใช้คลาวด์ประเภทใด การพัฒนาสู่ Era 2.0 จึงเป็นการแจ้งเกิดโซลูชันแรกในโลกที่สามารถบริหารจัดการดาต้าเบสที่หลากหลาย
“อีกโซลูชันที่มีอิมแพกต์ที่สุดคือ ฐานข้อมูลหรือดาต้าเบส (Database as a Service) เพราะทุกคนต้องการทำให้ทันสมัย ก่อนนี้องค์กรจะต้องมีแอดมินเฉพาะทาง หากมีปัญหาเรื่องการนำข้อมูลกลับมา เดิมอาจใช้เวลาจัดการหลายวันตามความซับซ้อน ต้องใช้ทีมงานและต้นทุนการสำรองข้อมูล โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องทำซ้ำข้อมูลหลายชุด เช่น บริษัทประกันที่ต้องใช้ข้อมูล 9 ชุดเพื่อส่งให้ฝ่ายการตลาด ตัวแทนจำหน่าย หน่วยรับชำระเงิน ระบบของนูทานิคซ์จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลทำซ้ำถูกบีบอัดจนใช้พื้นที่น้อยลง”
นอกจาก Era 2.0 นูทานิคซ์ยังประกาศเพิ่มการให้บริการรองรับเทคโนโลยีอื่น เช่น Postgres และ SAP HANA รวมถึงโซลูชันที่ทำร่วมกับเอชซีแอล (HCL) บริษัทเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก ทำให้ Era เป็นโซลูชันมัลติ-ดาต้าเบสที่รองรับการทำงานกับออราเคิล (Oracle) ไมโครซอฟท์เอสคิวแอล (Microsoft SQL Server) มายเอสคิวแอล (MySQL) และมาเรียดีบี (MariaDB)
ไม่เพียงสตอเรจและดาต้าเบส ยังมี Application as a Service ที่นูทานิคซ์ให้ความสำคัญในระยะแรก โดยจะรองรับเทคโนโลยีทั้ง CI-CD, Kubernetes, App deployment รวมถึงการทำอะไจล์ เชื่อมต่อกัน
“จากที่เคยต้องมาติดตั้ง ก็ไม่ต้อง สามารถบอกได้เลยว่าต้องการใช้อะไร”
ในภาพรวม ผู้บริหารมองว่าลูกค้าองค์กรไทยยังต้องการ 2 แบบ คือ as a Service และแบบทำเอง จึงเกิดเป็นแนวคิดมัลติคลาวด์เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขความยุ่งเหยิงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คลาวด์หลายเจ้าในอนาคต เบื้องต้น พบว่าอุตสาหกรรมการเงินมีความต้องการใช้ไอทีสูง ทำให้ความท้าทายหลักอยู่ที่เรื่องการแข่งขัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีการลงทุนสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตมีการชะลอตัวในการลงทุนคลาวด์ พบว่า มีการชะลอและหยุดบางโปรเจกต์ไป
สำหรับการลงทุนคลาวด์ในภูมิภาคนี้ พบว่าองค์กรไทยส่วนใหญ่ยังทำแบบดั้งเดิม เชื่อว่าอีก 5 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการลดทุนและทางลัดที่จะทำให้ได้รับบริการเร็ว เช่น กลุ่มโลคัลคลาวด์โพรไวเดอร์ผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศ
ทางลัดที่ระบบ as a Service มอบให้ได้นั้นคือการลดระยะเวลาจัดซื้อและติดตั้งระบบมาเป็นภายใน 24 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเกินเดือน สำหรับการลดค่าใช้จ่าย ยังประเมินไม่ชัดเนื่องจากต้นทุนระบบไอทีไม่ได้คำนวณเฉพาะการเป็นเจ้าของ แต่ยังมีต้นทุนเวลา คน ดาวน์ไทม์ และปัจจัยอื่น
ผู้บริหารนูทานิคซ์ย้ำว่า แผนพัฒนาบริการ as a Service 6 ด้านนี้จะมีด้านอื่นเพิ่มเติมในอนาคต เช่น เรื่อง AI และอีกหลายด้านที่จะโฟกัสเป็นส่วนต่อไป สำหรับปี 64 บริษัทคาดหวังการเติบโตเพราะตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องมองหาระบบไอทีใหม่เพื่อรองรับธุรกิจที่เติบโต
“ความต้องการทรัพยากรที่มากขึ้นบนคลาวด์ทุกระบบล้วนเป็นโอกาสของนูทานิคซ์ ลูกค้าหลักของเราคือภาครัฐ ซึ่งยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนคือกลุ่มการเงิน โลจิสติกส์ เทเลคอม เซอร์วิสโพรไวเดอร์ รองลงมาเป็นเฮลท์แคร์ และภาคการศึกษา”