xs
xsm
sm
md
lg

พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ตั้งเป้าปั้นบุคลากรไอทีซิเคียวริตีไทย 5,000 คนใน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


4 ขอบเขตความร่วมมือในโครงการ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ไซเบอร์ซิเคียวริตี อะคาเดมี (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy)
พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ และ 12 มหาวิทยาลัย เซ็นเอ็มโอยูพัฒนาทักษะว่าที่บัณฑิตป้อนอุตสาหกรรมไทย สางปมไทยขาดแคลนคนทำงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ทั่วโลก ย้ำเป้าหมายของโครงการคือผลิตบุคลากรด้านไอทีซิเคียวริตีในไทย 500 คนต่อปี และอีก 500 คน ภาครัฐร่วมลงทะเบียนรับการฝึกอบรมความปลอดภัยไซเบอร์ผ่านมหาวิทยาลัย รวมเป็น 1,000 คนต่อปี คาดว่าจะเกิดการส่งต่อความรู้ต่อเนื่องจนขยายบุคลากรด้านไอทีซิเคียวริตีไทยได้กว่า 5,000 คนใน 3 ปี

ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการบริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวถึงความเร่งด่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรไอทีซิเคียวริตีในไทยว่าปัจจุบัน 360 สถาบันไทยที่โฟกัสองค์ความรู้ซิเคียวริตียังจำกัดอยู่ที่ 2 มิติคือ ส่วนปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเน้นที่การทำวิจัย และไม่โฟกัสที่การสร้างบุคลากรด้านการปฏิบัติงาน โครงการความร่วมมือนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเน้นสร้างบุคลากรระดับแอดมินและโอเปอเรเตอร์

"เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นตัวเร่งให้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทำให้จำนวนภัยคุกคามพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ความต้องการบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีทวีคูณมากขึ้น สวนทางกับจำนวนของบุคลากรด้านนี้ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันที่ยังคงขาดแคลน เราทุกคนเห็นตรงกันว่า การฝึกอบรมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นความสำคัญลำดับต้น เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและหลากหลาย พร้อมกับการโจมตีด้านไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น จึงเป็นการคุกคามต่อวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลของเรา ดังนั้น การพัฒนาทักษะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาควรเป็นวาระแห่งชาติ บริษัทเอกชน รัฐบาล และสถาบันการศึกษาควรร่วมมือกันเพื่อบ่มเพาะความสามารถ และส่งต่อ่ให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้"

ความเร่งด่วนเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สะท้อนชัดในการสำรวจโดย ISACA ที่พบว่า 62% ขององค์กรทั่วโลกยังไม่มีตำแหน่งงานด้านซิเคียวริตีโดยเฉพาะ และ 57% ขององค์กรยังขาดบุคลากรด้านซิเคียวริตี

จำนวนภัยคุกคามวันนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจ Thailand’s Digital Outlook 2020 ของ สดช. ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากการลงพื้นที่สำรวจ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา พบว่า จากจำนวนแรงงานทั้งประเทศไทย 37.6 ล้านคน มีแรงงานทางด้านดิจิทัล หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็น 3.5% ในจำนวนนี้มีเพียง 3 แสนคน เป็นแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสูง โดยที่ตำแหน่งงานที่ต้องปฏิบัติงานด้านดิจิทัล ขยายตัวจากปีก่อน รวมถึงรายได้เฉลี่ยของแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสูงมีการขยายตัวถึง 21.4% ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความต้องการจ้างแรงงานกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทักษะไซเบอร์ซิเคียวริตีก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยในภาคการศึกษา ในปี 2562 สามารถผลิตแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้ 14,000 คน โดยมีการขยายตัว 13% ตลอดระยะเวลา 5 ปี

“ความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเดินหน้าของประเทศไทยในการนำประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะและแรงงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์นั้นมีความยากลำบากมากเนื่องจากขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนด้านดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภัยคุกคามเกิดขึ้นทวีคูณในขณะที่ยังขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ ดังนั้น โครงการนี้จึงมีรูปแบบการฝึกอบรมที่เหมาะสมและเฉพาะทาง และเป็นการเพิ่มทักษะแก่ผู้เข้าร่วมอบรมทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะสมในอนาคตอีกด้วย”

62% ขององค์กรทั่วโลกยังไม่มีตำแหน่งงานด้านซิเคียวริตีโดยเฉพาะ
เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐจะสามารถร่วมลงทะเบียนรับการฝึกอบรมความปลอดภัยไซเบอร์ผ่านมหาวิทยาลัยจากโครงการ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ไซเบอร์ซิเคียวริตี อะคาเดมี (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy) ได้ สำหรับประเทศไทย โครงการนี้เป็นผลจากความร่วมมือของบริษัทชื่อดังด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่าง พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ซึ่งเพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยไทย ในโครงการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก บนจุดประสงค์เพื่อการแก้วิกฤติการขาดแคลนทักษะความปลอดภัยไซเบอร์

ข้อตกลงนี้อยู่บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ในการให้ความรู้ไซเบอร์ซิเคียวริตีที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขอบเขตโครงการนี้จะประกอบด้วยกลุ่มหลักสูตรทางวิชาการและเทคนิคที่ครอบคลุมตามความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรม แต่ละหลักสูตรประกอบด้วยคำแนะนำในชั้นเรียน การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้และทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบใหม่ที่จำเป็นในบริบทปัจจุบันที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อจบหลักสูตร นักเรียนจะได้รับการรับรองในฐานะบุคลากรด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตี (Certified Cybersecurity Associate) หรือผู้ดูแลระบบเครือข่ายความปลอดภัย จากพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Network Security Administrator)

โครงการจะแจกบัตรกำนัลให้เป็นส่วนลดสำหรับสมัครสอบใบรับรองหรือเซอร์ติฟิเคท คาดว่าผู้ร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 100 คนจะได้รับใบเซอร์ระดับโลก
มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยพะเยา 

เป้าหมายของโครงการคือผลิตบุคลากรด้านไอทีซิเคียวริตีในไทย 500 คนต่อปี และอีก 500 คน ภาครัฐร่วมลงทะเบียนรับการฝึกอบรมความปลอดภัยไซเบอร์ผ่านมหาวิทยาลัย รวมเป็น 1,000 คนต่อปี โครงการจะแจกบัตรกำนัลให้เป็นส่วนลดสำหรับสมัครสอบใบรับรอง หรือเซอร์ติฟิเคท คาดว่าผู้ร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 100 คนจะได้รับใบเซอร์ระดับโลก

สำหรับนักศึกษาผู้ผ่านโครงการ 500 คนต่อปี เชื่อว่า 200 รายในกลุ่มนี้จะช่วยเป็นผู้อบรมแก่บุคลากรใน 900 โรงพยาบาล โดยเฉพาะในเครือสาธารณสุขซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรปกป้องภัยไซเบอร์ที่เชี่ยวชาญ

ในภาพ 3 ปี คาดว่าผู้ผ่านโครงการ 500 คนต่อปีจะขยายองค์ความรู้ได้มากเกิน 1,500 คน แต่การส่งต่อความรู้ในช่วง 3 ปีจะขยายบุคลากรด้านไอทีซีเคียวริตี้ไทยได้กว่า 5,000 คนใน 3 ปี

ศูนย์การศึกษาที่ได้รับการรับรองในโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น