“เคน หู” รองประธานหัวเว่ย ชี้ ‘5G’ สร้างมูลค่าใหม่ให้ภาคอุตสาหกรรม ชวนทุกฝ่ายเปิดโอกาสการเติบโตใหม่ทางธุรกิจ เผยเครือข่าย 5G ทั่วโลกมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำด้าน 5G ประเทศจีนได้ติดตั้งสถานีฐานมากกว่า 600,000 สถานีในเมืองต่างๆ มากกว่า 300 แห่งแล้ว
นายเคน หู (Ken Hu) รองประธานหัวเว่ยกล่าวในงาน Annual Mobile Broadband Forum ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ต่อบรรดาผู้นำธุรกิจจากภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลถึงมูลค่าใหม่ที่ 5G จะนำมาสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงวิธีการที่เราทำงานและเชื่อมต่อถึงกัน ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างมูลค่าใหม่ที่ไปไกลเกินกว่าตลาดผู้บริโภค เครือข่าย 5G ทั่วโลกมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำด้าน 5G ประเทศจีนได้ติดตั้งสถานีฐานมากกว่า 600,000 สถานีในเมืองต่างๆ มากกว่า 300 แห่ง
“เรื่องของนวัตกรรมไม่มีวิธีการสำเร็จรูป เราต้องมุ่งเน้นไปที่ความต้องการที่แท้จริง ในสถานการณ์จริง และสร้างศักยภาพต่างๆ ขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น นี่คือความท้าทาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับทุกๆ คนที่มีส่วนร่วม”
นายเคน หู ยังกล่าวถึงประเด็นการเร่งปรับใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมว่าการวางเครือข่าย 5G ทั่วโลกมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำด้าน 5G ประเทศจีนได้ติดตั้งสถานีฐานมากกว่า 600,000 สถานีในเมืองต่างๆ มากกว่า 300 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่รองรับการเชื่อมต่อของสัญญาณ 5G กว่า 160 ล้านโครงข่ายทั่วประเทศ ปัจจุบัน บริการ 5G ในจีนมีความเร็วระดับหลายร้อยเมกะบิตต่อวินาที (Mbps) และมีบริการ 5G ในหลากหลายขอบเขต ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศมากกว่า 20 อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสาธารณสุข ท่าเรือ เหล็ก กริดไฟฟ้า เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต
นายเคน หู ยังระบุว่า การปรับใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ขยับจากการตรวจสอบเชิงเทคนิคสู่การติดตั้งเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว สถิติล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ทั้ง 3 รายของจีนได้ดำเนินโครงการนวัตกรรม 5G แล้วกว่า 5,000 โครงการ และลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจด้าน 5G แล้วมากกว่า 1,000 รายการ
เขายังเล่าถึงข้อสังเกต 4 ประการเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการผลักดันนวัตกรรม 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมไว้ว่า ประการแรก ภาคอุตสาหกรรมต้องระบุความต้องการที่แท้จริงให้ได้ โดยอิงจากสถานการณ์การใช้งานทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่หลายภาคอุตสาหกรรมแสดงออกชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมที่จะรับเอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้งาน นายเคน หู ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง และประเมินว่า 5G เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องสำหรับงานนั้นๆ หรือไม่
“นี่เป็นวิธีที่ทำให้เราระบุได้ว่าส่วนใดคือความต้องการที่แท้จริงที่คุ้มค่าต่อการลงทุน”
หัวเว่ยเสนอเกณฑ์ 4 ข้อเพื่อใช้ประเมินความต้องการที่แท้จริง ได้แก่ ความเกี่ยวข้องเชิงเทคนิค, ศักยภาพทางธุรกิจ, ความพร้อมด้านห่วงโซ่คุณค่า (value chain maturity) และการวางมาตรฐานกลาง จากหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ สถานการณ์ทั่วไป 4 ประการที่จะแสดงให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของการใช้ 5G คือ ระบบควบคุมจากระยะไกลหรือ remote control, ระบบ Video Backhaul ที่ใช้ในการสตรีมมิงวิดีโอ, ระบบ Machine Vision และระบบระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์หรือ real-time positioning
ประการที่สอง โครงข่ายต้องได้รับการปรับให้เข้ากันได้กับทุกสถานการณ์ โครงข่ายถือเป็นรากฐานสำคัญของบริการ 5G ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โครงข่าย ตลอดจนการวางแผน การก่อสร้าง การบำรุงรักษา รวมถึงการปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของการใช้งานแต่ละกรณีในอุตสาหกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ค้าต้องทำงานร่วมกันและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยอิงจากความรู้ความเข้าใจเชิงลึกที่มีต่อปัญหาในระดับอุตสาหกรรม
ประการที่สาม อีโคซิสเต็มอันเฟื่องฟูของอุปกรณ์ 5G เชิงอุตสาหกรรมคือกุญแจสำคัญ จากการคาดการณ์ของหัวเว่ย ภายในสิ้นปี 2563 ราคาโมดูล 5G โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ และจะลดลงจนถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2565 ซึ่งจะทำให้อีโคซิสเต็มของอุปกรณ์ 5G สมบูรณ์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สี่ ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมต้องพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ เพื่อรองรับตลาด 5G ในภาคธุรกิจ เทคโนโลยี 5G เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม โซลูชันนี้ไม่สามารถทำงานให้ครบวงจรได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น นอกจากการเชื่อมต่อแล้ว ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยังต้องพัฒนาบริการที่ครบวงจร เช่น บริการดำเนินการด้านคลาวด์ การพัฒนาแอปพลิเคชันในภาคอุตสาหกรรม และผสานรวมระบบอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ในตลาดองค์กรซึ่งในขณะนี้ถือว่ายังขาดโซลูชันที่ครอบคลุมรอบด้านอยู่