xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มทรูเผยไตรมาส 3 เติบโตต่อเนื่อง เป็นรายเดียวที่มี EBITDA เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน พยุงรายได้จากการให้บริการที่ 26.5 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ทำให้กำลังซื้อชะลอลง รวมทั้งรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นในการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของระบบนิเวศดิจิทัลที่กลุ่มทรูมีครบวงจร ส่งผลให้เป็นรายเดียวที่มี EBITDA เติบโตทั้งจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 19 และจากไตรมาสก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 2 เป็น 9.4 พันล้านบาทในไตรมาส 3 หรือ 13.4 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 30 จากปีก่อนหน้า หากรวมผลกระทบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16) ผลักดันผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปีให้เติบโตด้วย EBITDA รวมจำนวน 38.6 พันล้านบาท สร้างกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดในการบริหารต้นทุน และเพิ่ม productivity ในทุกภาคส่วนทำให้เพิ่ม margin ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างกำไรให้เติบโตเข้มแข็งในปีหน้าต่อไป อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ยุค 5G และเร่งปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย จะเป็นก้าวสำคัญให้กลุ่มทรูเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากธุรกิจ New S-Curve อย่างที่เคยเป็นมาในทุกช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ทั้ง 3G 4G และต่อเนื่องมาสู่ 5G

นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “กลุ่มทรูรายงาน EBITDA เติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 3 ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคโดยรวมมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ก็เป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างปรับตัวเข้าหาดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นผลให้รายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและรายได้จากธุรกิจดิจิทัลของกลุ่มทรูยังคงเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมมือถือในประเทศยังได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในระหว่างไตรมาส แต่การเปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะ True5G พร้อมด้วยแพกเกจที่เพิ่มมูลค่าและผสานคอนเทนต์ VR และ AR จะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตดาต้าและขยายฐานลูกค้าพรีเมียมให้แก่กลุ่มทรูได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ผนวกกับความมุ่งมั่นในการเพิ่ม productivity และความครบวงจรของระบบนิเวศดิจิทัลของกลุ่มทรูที่ไม่เพียงสร้างความผูกพันตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมากของธุรกิจดิจิทัล หรือ New S-Curve ที่มีความพร้อมในการขายและให้บริการด้านดิจิทัลที่มากยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรให้แก่กลุ่มทรูได้อย่างยั่งยืน”

นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “กลุ่มทรูมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายและบริการที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เพิ่มความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่า การเปิดตัวเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยปีนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการช่วยพัฒนาสังคมและนำพาประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มทรูยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแรงขับเคลื่อนนี้ พร้อมกันนี้ เราได้มุ่งเพิ่มการขายและบริการไปในช่องทางอีคอมเมิร์ซและช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ บริการทรูไอเซอร์วิส ออฟฟิเชียลไลน์แอ็กเคานต์ พร้อมนวัตกรรมมะลิแชตบอต ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและฟีเจอร์ที่หลากหลายสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า โดยได้รับรางวัล Best Official account in Tech ในกลุ่ม Telco & Entertainment จากงาน Line Thailand Awards 2020 ที่ผ่านมา รวมทั้งแพลตฟอร์มพันธมิตรอย่าง WeMall ทรูมันนี่ และพันธมิตรร้านค้าออนไลน์อื่นๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้กลุ่มทรูสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มยอดผู้ใช้บริการให้แก่หลากหลายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทรูได้อย่างสูงในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา”

ทรูมูฟ เอช ขยายฐานลูกค้าระบบรายเดือนอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิระบบรายเดือนที่สูงสุดในอุตสาหกรรม จำนวน 269 พันราย ในไตรมาส 3 ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนเติบโตในอัตราแบบเลข 2 หลักจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยังคงกดดันรายได้ในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและรายได้จากบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการ 19.9 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 ผลักดันรายได้จากการให้บริการในช่วง 9 เดือนให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนเป็น 60.2 พันล้านบาท มีฐานผู้ใช้บริการรวมจำนวน 30.1 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 20.8 ล้านราย และระบบรายเดือน 9.3 ล้านราย ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช จะเดินหน้าให้ความสำคัญต่อคุณภาพโครงข่ายการบริการที่ครอบคลุม พร้อมเพิ่มมูลค่าผ่านคอนเทนต์คุณภาพที่ตรงตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเปิดตัวเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นทางการ ตลอดจนแนวโน้มการใช้งานและดีไวซ์ 5G ที่โมเดลพรีเมียมจะออกสู่ตลาดมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสร้างการเติบโตให้ทรูมูฟ เอช ผ่านเครือข่าย 5G ประสิทธิภาพสูงสุด ท่ามกลางอุตสาหกรรมมือถือที่มีจำนวนผู้ใช้งานสูงอยู่แล้วในปัจจุบัน

ทรูออนไลน์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอันดับ 1 ของไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งและรางวัลแบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2019-2020 ประเภทผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จากนิตยสาร Marketeer ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยทรูออนไลน์มีรายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 6.8 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 หนุนโดยฐานผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 111 พันราย เป็น 4.1 ล้านราย ทั้งนี้ การยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการคุณภาพสูงเป็นกลยุทธ์หลักที่ทรูออนไลน์มุ่งเน้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเสนอ True Gigatex Fiber Router และ Mesh WiFi นวัตกรรมเทคโนโลยี Band Steering ใหม่ล่าสุดที่รวมคลื่น WiFi ทุกความถี่เป็นหนึ่งเดียว พร้อมเลือกสัญญาณที่ดีที่สุดให้อัตโนมัติ การเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ตรงตามการใช้งานของลูกค้าและการอัปเกรดบริการด้วยสิทธิประโยชน์จากทรูการ์ด สิ่งเหล่านี้ร่วมกับความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ทรูออนไลน์

ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยรายได้หลักจากการบอกรับเป็นสมาชิกปรับตัวดีขึ้นหลังจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มทรงตัว ขณะที่แพกเกจพรีเมียมกลับมาเติบโตและมีแนวโน้มเชิงบวกตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ การมุ่งเน้นด้านออนไลน์มากยิ่งขึ้น แพกแกจแบบ A-la-Carte ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด ตลอดจนรายได้จากเครือข่าย Influencer หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสร้างการเติบโตให้แก่ทรูวิชั่นส์ต่อไป ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้า 4.0 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 หนุนโดยกลุ่มลูกค้าประเภทพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อนหน้า

ทรูไอดี เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์สูงถึง 311,000 ครั้ง หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ยอดการรับชมวิดีโอต่อเดือนยังเติบโตขึ้นสูงสุดถึง 240 ล้านวิว ทั้งนี้ การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (English Premier League) ยังคงเป็นหนึ่งในคอนเทนต์หลักที่สามารถดึงดูดให้มีผู้ใช้งานทรูไอดีมากขึ้น โดยมีการซื้อแพกเกจสำหรับรับชมทั้งฤดูกาลในช่วงเปิดขายล่วงหน้าเพิ่มมากกว่า 3 เท่าจากปีก่อน สำหรับแพลตฟอร์มดิจิตอลบนจอโทรทัศน์อย่างกล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตต่อเนื่องด้วยยอดกว่า 1.8 ล้านกล่อง สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้รายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์ดิจิทัลและรายได้จากโฆษณาของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เติบโตในอัตราเลข 2 หลัก ในขณะเดียวกัน ทรูยู สร้างความผูกพันของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยแคมเปญ “ทรูพอยท์ใจป้ำ” สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานใหม่ได้ถึงร้อยละ 16 และมียอดการเข้าร่วมแคมเปญสูงถึง 9.5 ล้านครั้ง และแคมเปญ “TruePoint Carnival Party” มียอดการเข้าร่วมถึง 4.6 ล้านครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน โดยมีผู้ใช้งานซ้ำและกลับมาแลกทรูพอยท์ถึงร้อยละ 40

ในส่วนของลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน เพิ่มจำนวนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการแล้วกว่า 281,000 อุปกรณ์ในไตรมาส 3 โดยในกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร ได้เปิดตัวโซลูชัน True Digital Smart Crop ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ที่เชื่อมต่อกันทั้งระบบ เช่น Smart drone ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์สภาพอากาศ วางแผนรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สามารถช่วยปรับลดค่าใช้จ่ายได้ ในขณะที่ กลุ่มเทคโนโลยีการจัดการอาคาร ได้ร่วมมือกับธุรกิจบริหารจัดการอาคารพาณิชย์ชั้นนำเพื่อทดสอบระบบ Property Integration System ที่ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถจัดการการใช้งานพื้นที่ในบริเวณส่วนกลางทั้งในเชิงป้องกันและเชิงรุกได้ สำหรับตลาดผู้บริโภค ได้นำเสนอโซลูชัน Smart Living ต่างๆ เช่น Home Center application, Home IoT sensors และอุปกรณ์ Homecare อื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์สาธารณูปโภคต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น