‘ดีป้า’ หนุนโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชนบท ชูโมเดล 2 ชุมชน ลำพูน -เชียงใหม่ สร้างเครื่องคัดแยกลำไยและระบบบริหารจัดการไข่ไก่ อารมณ์ดี ช่วยเกษตรกร เพิ่มรายได้-ลดต้นทุน
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ดีป้าจะยังคงสานต่อแนวคิด ชุมชนคิด ชุมชนเลือก ชุมชนทำ เพื่อชุมชนยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัป และผู้ให้บริการดิจิทัลมากกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมยกระดับชุมชนท้องถิ่นสู่ชุมชนดิจิทัล พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือ ดีป้าได้สนับสนุน 2 โครงการ คือ โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Predictive Machine Vision ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และประมวลผลด้วยวิธีการของ Machine Learning โดย หจก.ลำพูนดีเอสฟู๊ด ใน อ.เมือง จ.ลำพูน ได้นำเทคโนโลยี Predictive Machine Vision มาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และประมวลผลด้วยวิธีการ Machine Learning ร่วมกับงานออกแบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง เพื่อสร้างเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติ ที่สามารถจำแนกคุณภาพและความเสียหายของลำไยอบแห้ง รายงานและวิเคราะห์การคัดคุณภาพจากเครื่องคัดลำไยอบแห้ง รวมถึงติดตาม ตรวจสอบการผลิตของเครื่องคัดลำไยแบบออนไลน์
สำหรับเทคโนโลยีและเครื่องคัดแยกลำไยที่ลำพูนดีเอสฟู๊ดใช้เป็นของบริษัทที่ขอการสนับสนุนเงิน 60% จากดีป้า คือ บริษัท เอไอ อินดัสทรี จำกัด ในการพัฒนาเรื่องจักรและซอฟต์แวร์ มูลค่า 1 ล้านบาทต่อเครื่อง มีกำลังการคัดแยก ชั่วโมงละ 400 กิโลกรัม
ดังนั้น จึงทำให้ หจก.ลำพูนดีเอสฟู๊ด สามารถลดต้นทุนด้านแรงงาน เพิ่มกำลังการผลิต คุณภาพ และมูลค่าสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรของประเทศ
นายณัฐพล กล่าวว่า อีก 1 โครงการ คือ โครงการระบบบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (ไข่ไก่อารมณ์ดี) โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรกรบ้านนาหึก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ประยุกต์ใช้ระบบอีอาร์พี ในการบริหารจัดการและตรวจสอบสถานะไข่ไก่แบบเรียลไทม์ เช่น จำนวนไข่ไก่ที่ลูกค้าต้องการ จำนวนไข่ไก่คงเหลือ ยอดสะสมไข่ไก่ที่ส่งให้แก่ชุมชน ระบบการจัดการรับซื้อ จำหน่ายไข่ไก่ รวมถึงติดตาม เก็บข้อมูลปริมาณการรับซื้อ และกระจายไข่ไก่ขนาดต่างๆ ในเชิงสถิติ เป็นต้น เพื่อทำการประเมินผล คาดการณ์ปริมาณและขนาดของไข่ให้สอดคล้องกับการรับซื้อ การเก็บรักษา และการกระจายให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
มาตรการดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 180,000 บาทต่อปี ขณะเดียวกัน ยังสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี