กลุ่มทรู มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และร่วมป้องกันแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 โดยสนับสนุนโครงการ Sensor for All ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรก
สำหรับโครงการ Sensor for All ปี 3 นี้ True Lab มอบ NB-IoT ชิปเซ็ต จำนวน 200 ชุด เพื่อนำไปจัดทำอุปกรณ์เซ็นเซอร์โดยฝีมือคนไทย ขยายพื้นที่ตรวจวัดปริมาณฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจวัดได้ทั้งฝุ่น PM 2.5, PM 10, อุณหภูมิ และความชื้น พร้อมทั้งคำนวณค่า AQI และระบบประมวลผลผ่านหน้าจอเซ็นเซอร์ ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G แสดงผลบน Dashboard ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังสามารถนำข้อมูลไปประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้อย่างถูกจุด ตามสภาพปัญหาจริงของแต่ละชุมชน
พร้อมกันนี้ กลุ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดแสดงนิทรรศการเน้นการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การปลูก ป้องกัน ปรับปรุง คืนสิ่งแวดล้อมให้โลก สร้างสังคมอัจฉริยะอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเทคโนโลยี True 5G ที่จะนําไปสู่สังคมอัจฉริยะ ผ่านเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เชื่อมโยงชีวิตยุคใหม่ และเมืองไทยที่ล้ำไปอีกขั้น
1.“ปลูก” ต้นไม้ เพื่อคืนชั้นบรรยากาศที่สดใส สร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมด้วยแอป “We Grow” สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการปลูกต้นไม้ในสังคมยุคใหม่ ให้ปลูกแล้วแชร์ข้อมูลผ่านแอป ติดตามอัปเดตการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมผู้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลความรู้เรื่องต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันแอปพลิเคชันมีผู้ปลูกแล้ว 4,324,677 ต้น และปริมาณดูดซับคาร์บอน 62,726 ตัน โพสต์ข้อมูลผ่านเครือข่ายสีเขียวแล้ว 70,000 โพสต์ ร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน และภายในชุมชนแบบครบวงจร โดยดาวน์โหลดแอป We Grow ได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ iOS หรือคลิกที่ www.wegrow.in.th
2. “ป้องกัน” สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า True SMART Early Warning System เฝ้าระวังช้างป่าเข้ามาในพื้นที่การเกษตร หรือ ทำร้ายคน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT และกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) ที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าไปยังระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.“ปรับปรุง” โดยร่วมกับพันธมิตร ใช้เทคโนโลยีโดรนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การช่วยปกป้องผืนป่าจากปัญหาไฟป่า ด้วย “VETAL DRONE : โดรนสำรวจไฟป่า” ที่บินได้สูงกว่าโดรนทั่วไป สามารถวางแผนและมอร์นิเตอร์พื้นที่ด้วยระบบจับภาพจากมุมสูง พร้อมความสามารถในการตรวจจับอุณหภูมิของพื้นที่ ทำให้สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุยังบริเวณจุดเกิดไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งสามารถมอนิเตอร์ได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบ autonomous flight โดยสามารถสั่งการได้ตามจุดที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมี “โดรนสำรวจใต้น้ำและผิวน้ำ” ช่วยสำรวจพื้นผิวน้ำเพื่อดูคลื่น ตรวจจับความลึกจากสัญญาณเรดาร์พร้อมกล้องถ่ายภาพใต้ทะเล สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล ทั้งการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง สัตว์ทะเล และอื่นๆ มีการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ ตรงจุด และรวดเร็ว ทดแทนการใช้เจ้าหน้าที่ในการสำรวจใต้ท้องทะเล ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา