xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปัจจัยบวกตลาดพีซี "เดลล์" รับอานิสงส์กลุ่มพรีเมียมเติบโต (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อโณทัย เวทยากร
ในช่วงต้นปีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทวิจัยอย่างไอดีซี (IDC) ได้ประเมินไว้ว่า ตลาดรวมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปีนี้จะมีโอกาสติดลบถึง 9% เมื่อเทียบกับปี 2019

ก่อนหน้านี้ สัญญาณการเติบโตของตลาดพีซีนั้นเริ่มกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในช่วงปี 2019 ซึ่งตลาดพีซีนั้นกลับมาเติบโตอีกครั้งในรอบ 6 ปี นับจากช่วงเวลาที่กำลังซื้อสินค้าเทคโนโลยีของผู้บริโภคเบนเข็มไปที่สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตแทน ประกอบกับเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์ยุติการซัปพอร์ตระบบปฏิบัติการ Windows 7 ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนต้องเลือกซื้อพีซีเครื่องใหม่ที่รองรับ Windows 10 แทน

แต่กลายเป็นว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการดิสรัปชัน จนกลายเป็นว่าในปี 2020 นี้ ตลาดพีซีกลับมีการเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบให้ตลาดพีซีในปีหน้าชะลอตัวลง เนื่องจากกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และจำเป็นต้องใช้งานเริ่มจับจ่ายใช้สอยแล้ว

XPS 17
ข้อมูลตลาดพีซีล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทางไอดีซี ระบุว่า ทั่วโลกมีการจัดส่งพีซีเพิ่มขึ้นถึง 14.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนกว่า 81.3 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่เติบโตถึง 11.2% ด้วยจำนวนกว่า 72.6 ล้านเครื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลส่วนแบ่งตลาดพีซี ของไอดีซี พบว่า ผู้นำในตลาดพีซีทั่วโลกยังคงเป็นเลอโนโว ที่มีส่วนแบ่งกว่า 23.7% ตามด้วยเอชพี 23% เดลล์ 14.8% แอปเปิล 8.5% และเอเซอร์ 7.4% โดยมีเพียงเดลล์เท่านั้นที่ส่วนแบ่งตลาดปรับลดลง จากการที่ลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มองค์กรธุรกิจ ในขณะที่แบรนด์อื่นยังเติบโตจากกลุ่มคอนซูเมอร์

XPS 15
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดพีซีมีการเติบโตในปีนี้ ผิดจากที่ทางไอดีซีประเมินไว้ในช่วงต้นปีว่าจะได้รับผลกระทบมาจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการปิดประเทศ จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งในช่วงที่ล็อกดาวน์ปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ตลาดพีซีได้รับผลกระทบแน่นอน

แต่หลังจากนั้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ตลาดพีซีกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ และคาดว่ามีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องไปในช่วงปลายปีนี้ จากความต้องการอุปกรณ์ที่มาช่วยให้การทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในบางประเทศที่เกิดการระบาดรอบที่ 2

‘อโณทัย เวทยากร’ รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และสายธุรกิจคอนซูเมอร์ ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ ประเมินตลาดพีซีในประเทศไทยหลังจากนี้ว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสินค้าเทคโนโลยีกลายเป็นสินค้าจำเป็นที่ทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ จึงมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 4

XPS 13
ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา กำลังการผลิตสินค้าไอทีทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่มีการปิดโรงงานผลิตต่างๆ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่เมื่อสถานการณ์ในหลายๆ ประเทศผู้ผลิตดีขึ้น กำลังการผลิตเริ่มกลับมาเพียงพอต่อดีมานด์การใช้งานแล้ว

‘ในปีนี้กำลังซื้อส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากต้องมองหาโน้ตบุ๊ก หรือเดสก์ท็อปที่มาใช้งานระหว่างการทำงานที่บ้าน รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ส่วนในมุมขององค์กรธุรกิจ อาจต้องรอประเมินสถานการณ์ถึงช่วงต้นปี 2564 ที่มีโอกาสกลับมาลงทุนต่อในช่วงไตรมาส 2’

***ราคาเฉลี่ยโน้ตบุ๊กสูงขึ้น


อีกปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึง Now Normal ที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้ คือ การที่ภาคธุรกิจเกิดการทรานฟอร์เมชันรวดเร็วขึ้น ประกอบกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้พนักงาน ออฟฟิศสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จึงทำให้การเลือกซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้งาน จะเน้นที่ประสิทธิภาพสูง และพกพาง่ายมากขึ้น

‘กลายเป็นว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เดิมเลือกซื้อโน้ตบุ๊กในระดับเริ่มต้น ในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 18,000 บาท ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจึงทำให้โน้ตบุ๊กในส่วนนี้มียอดขายลดน้อยลง แต่กลับกัน ช่วงระดับราคาที่เติบโตคือ โน้ตบุ๊กที่มีราคาสูงกว่า 20,000 บาท จึงทำให้ราคาเฉลี่ยของโน้ตบุ๊กในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น’

XPS 13 2-in-1
ปัจจุบัน กลายเป็นว่ากลุ่มผู้บริโภคระดับกลางบน กลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะในกลุ่มโน้ตบุ๊กพรีเมียม สำหรับนักธุรกิจ รวมถึงสินค้าในกลุ่มเกมมิ่ง ที่ในช่วงล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนหันมาเล่นเกมกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มครีเอเตอร์ที่ต้องการโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงไปใช้งานมากขึ้นด้วย

โดยล่าสุด เดลล์ ได้ทยอยอัปเดตไลน์สินค้าในกลุ่มพรีเมียมแฟลกชิปตระกูล XPS ไล่ตั้งแต่ XPS 13 และ XPS 13 2-1 ที่เป็นโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงมากับหน่วยประมวลผล Intel Core เจเนอเรชันที่ 11 เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และต้องการโน้ตบุ๊กที่พกพาง่ายและถือเป็นโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมแพลตฟอร์ม Intel EVO รุ่นแรกๆ ของตลาดด้วย ตามด้วย XPS 15 และ XPS 17 ที่มากับ Intel Core เจเนอเรชันที่ 10 พร้อมการ์ดจอแยก ซึ่งมีกำลังในการประมวลผลที่สูงขึ้น เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานมืออาชีพ ที่ต้องการโน้ตบุ๊กที่สามารถประมวลผลได้เร็ว แรง ช่วยให้สามารถทำงานอย่างการตัดต่อ กราฟิกได้รวดเร็วขึ้น ในช่วงระดับราคา 56,990-99,990 บาท

รู้จัก ‘Intel EVO’ แพลตฟอร์มโน้ตบุ๊กสมัยใหม่


ในช่วงที่ผ่านมา ชื่อของ อัลตร้าบุ๊ก (Ultrabook) ถือว่าเป็นชื่อแพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับโน้ตบุ๊กบางเบา จนกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้งานกันในปัจจุบัน ทำให้ทางผู้ผลิตหน่วยประมวลผลอย่างอินเทล เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อที่จะนำมาใช้งานกับโน้ตบุ๊กในอนาคต

DELL XPS 2
จนทำให้เกิดที่มาของ Project Athena ให้บรรดาผู้ผลิตนำเงื่อนไขต่างๆ ไปใช้ในการผลิตโน้ตบุ๊ก เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้บริโภค จนเป็นที่มาของแพลตฟอร์ม Intel EVO

สำหรับเงื่อนไขของโน้ตบุ๊กที่จะได้รับรองเป็นแพลตฟอร์ม Intel EVO คือต้องเป็นโน้ตบุ๊กที่ เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาต้องพร้อมใช้งานทันทีภายใน 1 วินาที ถัดมาคือ อายุแบตเตอรี่ต้องใช้งานได้ต่อเนื่องมากกว่า 9 ชั่วโมง บนหน้าจอความละเอียด Full HD และมาพร้อมระบบชาร์จเร็วที่ชาร์จ 30 นาที ต้องใช้งานต่อได้เนื่องนาน 4 ชั่วโมง

ที่สำคัญคือ ต้องใช้งานร่วมกับหน่วยประมวลผล Intel Core เจเนอเรชันที่ 11 รุ่น Core i5 ขึ้นไป เพราะรองรับการเชื่อมต่อแบบ Thunderbolt 4 และ WiFi 6 ทำให้รองรับการเชื่อมต่อที่รวดเร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น