ทีโอทีเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G หลังจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 26GHz เรียบร้อยแล้ว ด้าน 11 โอเปอเรเตอร์หนุนทีโอที ให้บริการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วม (infrastructure sharing) ทุกด้านทั้งท่อร้อยสาย และ 5G เพื่อตอบโจทย์ลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยเน้นวางโครงข่ายเฉพาะพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งาน ขณะที่ 'อีอีซี' อ้าแขนรับหากทีโอทีสนใจลงทุน
'มรกต เธียรมนตรี' รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 ทีโอทีได้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 26GHz จากการประมูลจำนวน 4 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100MHz รวม 400MHz มูลค่า 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้กสทช.ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทีโอทีต้องเร่งจ่ายเงินค่าประมูลก็เพื่อให้สามารถนำเข้าอุปกรณ์ได้ และนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปทดสอบทดลองหารูปแบบการใช้งาน (use case) ที่เหมาะสม ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 26GHz เป็นย่านความถี่สูงซึ่งมีคุณสมบัติในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงเวลาหรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำด้วยคุณสมบัตินี้ ทำให้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม ด้านสาธารณสุข ด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน และการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ
'การลงทุนในคลื่นความถี่ย่าน 26GHz เป็นการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในวงกว้าง เมื่อมีลูกค้าแล้วค่อยลงทุนได้ โดยในขณะนี้ มีเอกชนสนใจเข้าเจรจาเพื่อขอนำคลื่นความถี่ย่าน 26GHz ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ หรือโรบอทแทนการใช้แรงงานคน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากยิ่งขึ้น'
***ส่องความพร้อม 5G ทีโอที
ที่ผ่านมา ทีโอทีมีความร่วมมือกับพันธมิตรหรือหน่วยงานภายนอก ในหลายโครงการได้แก่ 1.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือ MOU เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2563 สำหรับการให้บริการด้านการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ภายใต้ความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเปิดใช้งานภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สาย 5G
รวมทั้งการใช้ระบบเครือข่ายสารสนเทศ ในการพัฒนาด้านวิศวกรรม สาธารณสุขอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การเกษตร พลังงาน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยและเพื่อทำงานวิจัยร่วมกันให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคน และการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสูงสุด
2.การร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราชสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านสาธารณสุข มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ 'หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช' (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ในการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉิน มาสู่รถ Siriraj Mobile Stroke Unit ด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นการบริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขของไทย
3.ร่วมพัฒนา 5G FIBO ROBOT (Institute of Field Robotics) กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4.ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการใช้คลื่น 5G พัฒนาระบบสายพานลำเลียงให้แก่โรงงานผลิตเครื่องดื่มในเขตพื้นที่อีอีซี
5.สร้างโครงข่ายร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (IoT) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซีโดยมีแผนงานการลงทุนด้าน Infrastructure เพื่อให้บริการ Smart Pole สำหรับบริการ 5G ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ และมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเสา Smart Pole เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภาคตะวันออก และ 6.ให้บริการกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัดหรือ mu Spaceในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิตชิ้นส่วนประกอบของดาวเทียมวงโคจรต่ำ
***อีอีซีเปิดกว้าง - 11 โอเปอเรเตอร์พร้อมใช้โครงข่ายร่วม
สำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทั้งเรื่องท่อร้อยสาย ไฟเบอร์ ออปติก และ 5G ในพื้นที่อีอีซีนั้น 'มรกต' กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า 11 โอเปอเรเตอร์ยินดีใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับทีโอที โดยทีโอทีเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และให้ 11 โอเปอเรเตอร์เช่าใช้ ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุน และลดการลงทุนซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นไปตาม MOU ที่ทีโอทีได้ลงนามร่วมกับ 11 โอเปอเรเตอร์ตั้งแต่ต้นปี 2563
'ดังนั้น ทีโอทีจะนำ MOU ดังกล่าวเสนอต่ออีอีซีถึงแผนการลงทุนซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การผูกขาด'
ขณะที่ 'คณิศ แสงสุพรรณ' เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี กล่าวว่า หากทีโอทีสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็สามารถทำได้ และขอให้ส่งรายละเอียดเข้ามาให้พิจารณา
มรกต ย้ำว่า ในอนาคตทั้งทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะกลายเป็นบริษัทเดียวกันคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที การควบรวมจะทำให้ เอ็นทีกลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ 5G โดยทีโอทีมีเสาสัญญาณ จำนวน 25,000 ต้นขณะที่ กสท โทรคมนาคม มี 18,000 ต้น รวมแล้วมีเสาสัญญาณโทรคมนาคมมากถึง 43,000 ต้น
ทั้งนี้ พื้นที่อีอีซี ใน 3 จังหวัดประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรามี 12 อุตสาหกรรรมเป้าหมายที่อีอีซีต้องส่งเสริม ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพและการแปรรูปอาหาร รวมถึงต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ คือ หุ่นยนต์ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การป้องกันประเทศและการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
บริการ 5G จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้ง IoT ที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสาร สั่งการ และแลกปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแบบเรียลไทม์ ตลอดจนวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งล้วนต้องอาศัยความเร็วสูงและความหน่วงต่ำของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด
นอกจากนั้น 5G ยังเอื้อต่อเทคโนโลยีในโลกเสมือนจริงอย่าง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น Cloud Computing, Machine Learning, Artificial และ Big Data