‘การจัดส่งสินค้า’ คือปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยิ่งการจัดส่งดำเนินการส่งถึงมือผู้รับรวดเร็วเท่าไหร่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นๆ ยิ่งได้รับกระแสตอบรับจากเหล่านักชอปออนไลน์ดีขึ้นเท่านั้น ที่น่าจับตามองคือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มโจมตีตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลอย่างหนักต่อทุกประเภทธุรกิจ แม้กระทั่งกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ดูเหมือนจะตัดปัญหาเรื่องการตกลงซื้อ-ขายแบบเผชิญหน้าออกไปได้ แต่สุดท้ายปัญหาใหญ่ก็มาตกที่การจัดส่งอยู่ดี หากการวางรากฐานกระบวนการจัดส่งสินค้าของร้านค้าอีคอมเมิร์ซนั้นๆ แข็งแรงมากพอ มีการวางแผนสำรองป้องกันไว้ระดับหนึ่ง แม้ระบบจัดส่งสินค้าจะล่าช้าลงบ้าง แต่ก็ยังจับกลุ่มเป้าหมายช่วงโควิด-19 ได้
iPrice Group แหล่งเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จับมือกับ Parcel Monitor ผู้นำซอฟต์แวร์ด้านการตรวจสอบสถานะสินค้าให้แก่บริษัทจัดส่งสินค้าที่เชื่อมโยงกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซกว่า 600 รายทั่วโลก เผยข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนวันจัดส่งโดยเฉลี่ยจาก 4 ประเทศตลาดอีคอมเมิร์ซยอดนิยม ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 หรือก็คือช่วงก่อน-หลังการปิดประเทศจากการแพร่ระบาดของไวรัส จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ภาพรวมความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าในแต่ละประเทศดังกล่าวมีความแตกต่างกัน ดังนี้
สภาพอากาศแบบร้อนชื้น ส่งผลต่อความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า
จากการเปรียบเทียบความเร็วในการจัดส่งสินค้าช่วงก่อนปิดประเทศ พบว่า มาเลเซียคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าเร็วเป็นอันดับที่ 3 จาก 4 ประเทศ เฉลี่ย 2.1 วัน แต่ช่วงปิดเมืองระยะเวลาจัดส่งสินค้ากลับล่าช้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีอัตราความเร็วในการจัดส่งเฉลี่ยที่ 4.6 วัน หรือช้าลงถึง 119% ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลาการจัดส่งล่าช้าในตลาดอินโดฯ ที่มีความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าช่วงปิดประเทศตามมาเป็นอันดับ 2 จากเดิมเฉลี่ย 2.3 วัน (ล่าช้าเพิ่ม 3 วัน) ช่วงปิดประเทศ หรือล่าช้าขึ้นถึง 30%
อาจสืบเนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพอากาศที่ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซียต่างก็มี ‘เกาะ’ น้อยใหญ่มากมายเช่นเดียวกับทางตอนใต้ของไทย ทำให้ทั้ง 2 ประเทศส่วนใหญ่จะมีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ควบคู่ไปกับจำนวนการสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 60% ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จากข้อมูลวิจัยตลาดของบริษัท iPrice Group ที่เก็บข้อมูลจากจำนวนการสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ยในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ASEAN ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่าเดิม
‘ไทย’ มีระยะเวลาจัดส่งสินค้าเร็วที่สุดในภูมิภาค
แม้จากข้อมูลจะชี้ว่าสิงคโปร์คือตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีระยะเวลาจัดส่งสินค้าโดยเฉลี่ยเร็วที่สุดทั้งก่อน และช่วงปิดประเทศ โดยมีอัตราความล่าช้าโดยเฉลี่ยที่ 15% จาก 1.3 วัน เป็น 1.5 วัน แต่ถ้าวัดกันตามขนาดพื้นที่แล้วจะเห็นว่า แท้จริงแล้วประเทศไทยต่างหากที่เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีระยะเวลาจัดส่งสินค้าโดยเฉลี่ยเร็วที่สุดทั้งก่อน และช่วงปิดประเทศ จาก 1.8 วัน เป็น 2 วัน และมีอัตราความล่าช้าโดยเฉลี่ยที่ 11% ซึ่งต่ำสุดใน 4 ประเทศ คาดเพราะตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการแข่งขันด้านการจัดส่งสินค้ามาช้านาน จึงไม่แปลกที่จะมีกลยุทธ์รับมือที่แม้จะได้รับผลกระทบบ้างช่วงโควิด-19 แต่ก็อยู่ในระดับที่รับมือไหว
ทั้งนี้ iPrice Group ได้รับการสนับข้อมูลด้านจำนวนการจัดส่งสินค้ากว่า 1.4 ล้านรายการ ภายในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จากบริษัท Parcel Monitor หรือ Parcel Perform ระหว่างเดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน 2563