ทีโอที ควงคู่มิวสเปซ พร้อมขึ้นแท่นเป็นตัวแทนประเทศไทยรุกบริการคลาวด์บนฟ้านำร่องยิงอุปกรณ์ดาต้าเซ็นเตอร์ทดสอบสภาพความแข็งแรงและการทำงานบนสภาพอวกาศ รับเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ ยินดีเปิดรับทุกภาคส่วนที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน เผยภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะส่งอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นบนฟ้าที่ความสูงเพิ่มขึ้นจากเดิม
ในที่สุดการยิงจรวด Blue Origin เพื่อทดสอบการทำงานอุปกรณ์ดิจิทัลในอวกาศที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ได้ถูกนำขึ้นสู่ฟากฟ้าไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2563 เวลา 20.35 น.ที่ผ่านมา ซึ่งภายในจรวดประกอบด้วย ชุดการทดลองของทีโอทีที่บรรจุภายใน Single Payload Locker ของ Blue Origin คือ TOT Data Center Payload โดยหลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และขยายผลดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
'มรกต เธียรมนตรี' รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ผลของการทดลองนี้จะมีค่ามหาศาล ซึ่งอุปกรณ์ที่ส่งขึ้นไปนั้นปกติเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานในพื้นโลก จะทนสภาพการใช้งานบนท้องฟ้าได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแรงกระแทก อัตราเร่ง และแรงโน้มถ่วง จากนั้นหากนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วพบว่าใช้งานได้ ทีโอทีก็สามารถให้บริการคลาวด์บนฟากฟ้าได้ สิ่งนี้เองจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการให้บริการอินเทอร์เน็ตของโลก ซึ่งในหลายประเทศกำลังมีแผนปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO และคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมดังกล่าวนั้นจะกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ในปัจจุบัน
ด้วยคุณสมบัติที่ได้เปรียบของดาวเทียมวงโคจรต่ำในด้านความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ จะทำได้ง่ายกว่าการเดินสายภาคพื้นดินทำให้มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าแทนที่การใช้งานบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทางสาย และทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้าง Internet Data Center IoT Platform บนวงโคจรดาวเทียมในอนาคตอันใกล้
ในการลงนามความร่วมมือของทีโอที และมิว สเปซ เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้และโอกาสในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีไร้สายดาวเทียม LEO นั้น ทีโอทีได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษาควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารและพนักงานเพื่อสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นผู้นำในการให้บริการและศูนย์กลางเกตเวย์ภาคพื้นดินในการให้บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ในอนาคต
ผลจากความร่วมมือครั้งนี้ ทีโอที และมิว สเปซ ได้ส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ Blue Origin จรวดของบริษัทในเครืออเมซอน สหรัฐอเมริกาเมื่อค่ำวันที่ 13 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ทุกอย่างเสร็จสิ้นตามภารกิจ ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ คือ รอนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และดำเนินการต่อไป
สำหรับ TOT Data Center Payload เป็นชุดการทดลองของทีโอที ที่ทีโอทีกับมิว สเปซ ทดลองส่งอุปกรณ์ขึ้นสู่วงโคจรระดับ Sub-orbital (ไปแล้วกลับ) ด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin ในเที่ยวบิน NS-13 โดยอุปกรณ์ทดลองดังกล่าวเป็น Server Payload ที่ประกอบไปด้วย Web Server, IoT (Internet of Things) เพื่อเก็บข้อมูลมาใช้วิจัยสำหรับการพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร LEO ในอนาคต
*** Space IDC เป้าหมายทีโอที
มรกต กล่าวว่า การที่ทีโอทีได้ร่วมมือกับมิว สเปซ นับเป็นการมีพาร์ตเนอร์ที่ดี ทีมงานของทีโอทีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทีโอที ที่มีความพร้อมในการร่วมทำภารกิจสำคัญๆ ได้เป็นอย่างดี ทีโอทีและมิวสเปซต้องการผลักดันกิจการอวกาศของประเทศไทยให้มีที่ยืนในสังคมโลกในด้านกิจการอวกาศอย่างจริงจัง ไอเดียด้านการทำ Space IDC เป็นไอเดียที่จะจุดประกายให้แก่แวดวงโทรคมนาคมไทย
'ทีโอทีและมิวสเปซ อยากให้ระดับรัฐบาล ช่วยสนับสนุนสิ่งที่ทำซึ่งไม่ใช่เป็นการแข่งขันกัน แต่เป็นการร่วมมือกันในการทำภารกิจเรื่องกิจการอวกาศโดยคนไทยมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือ ทีโอทีพร้อมอ้าแขนรับพันธมิตรทุกภาคส่วนที่สนใจมองธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ร่วมกัน'
นอกจากนี้ ทีโอทียังให้โอกาสเยาวชนจากโครงการ TOT Young Club เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนซอฟต์แวร์ เพื่อติดตั้งไปพร้อมกับอุปกรณ์ของทีโอที ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างโดยนักเรียนมัธยมที่มีโอกาสทํางานบนสภาพแวดล้อมอวกาศในจรวด Blue Origin โดยการรันในโปรแกรมจริง และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำดาต้า เซ็นเตอร์ขึ้นไปทดสอบในอวกาศเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจในอนาคตเนื่องจากอวกาศมีสภาพแวดล้อมเหมาะกับดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบประมวลผลสูง รวดเร็ว ที่ต้องการระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิติดลบเกือบ 300 องศาเซลเซียส ซึ่งในอวกาศทำได้
มรกต ย้ำว่า ทีโอทีมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องท่อร้อยสายใต้ดิน เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของทีโอที ที่จะมุ่งไปสู่บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ซึ่งในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้านอวกาศจะมีศักยภาพสูงในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ
'การเข้ามาแทนที่การให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทางสาย ที่มีความยุ่งยากในการติดตั้งและบํารุงรักษาและการลดต้นทุนทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Internet Data Center และ IoT platform บนวงโคจรในอนาคตข้างหน้า เบื้องต้น ทีโอที ได้ปรับปรุงเกตเวย์ภาคพื้นดินที่มีอยู่เดิม100 ล้านบาทในการเตรียมความพร้อมสำหรับรุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ'
'วรายุทธ เย็นบำรุง' กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิว สเปซ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อมูลกลับมา มิว สเปซร่วมกับทีโอที จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และนำผลที่ได้มาออกแบบอุปกรณ์ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ การให้บริการเครือข่ายสถานีภาคพื้นดิน บริการการรับและส่งสัญญาณดาวเทียมในระบบวงโคจรต่ำ รองรับการใช้งานเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ได้อย่างสมบูรณ์แบบจะทําให้การสื่อสารกระจายครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์และมีความสําคัญอย่างมากต่อการสื่อสารในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้นประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงการศึกษา ความรู้ อาชีพ และโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม และยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารของไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม
สำหรับเป้าหมายหลักสำคัญในการจับมือกับทีโอที เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านธุรกิจดาวเทียม โดยเริ่มที่โครงการการส่งอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถทํางานบน Space Environment ไปทดสอบบนอวกาศซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศให้แก่ประเทศไทยเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในไทยให้ก้าวหน้าทันสมัยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทีโอทีและมิวสเปซ มีแผนงานในอนาคตที่จะทำการทดสอบการให้บริการ Space IDC/Platform และการสื่อสารระหว่างดาวเทียม Intersatellite Link โดยใช้เทคโนโลยี Space Laser รวมถึงมีแผนที่จะขยายจำนวนเกตเวย์เพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้งาน Multi-Orbit Satellite และ LEO Satellite ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์กับโครงข่ายดาวเทียม LEO
'ภารกิจต่อไปในการทำ Space IDC เป็นเรื่องสำคัญและจะเปลี่ยนแปลงการให้บริการอินเทอร์เน็ตของโลก แนวคิดนี้มีการพูดถึงกันทั่วโลก และเราในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นผู้นำและจะมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง และเอกชน สถาบันการศึกษา ตื่นตัวในเรื่องนี้มาก เราจะร่วมมือกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าทีโอที และมิว สเปซ จะมีแผนส่งอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่บนความสูงที่สูงขึ้นกว่านี้อีกด้วย' มรกต กล่าวทิ้งท้าย