xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ สร้างความมั่นคงเทคโนฯ ปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2563 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมในครั้งนี้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เห็นได้ถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัลในหลายด้าน ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่ผ่านมาได้วางโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการออกกฎหมายบริหารกิจการอวกาศของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้ทัดเทียมและสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ระดับสากลด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ต้องครอบคลุมถึงระดับชุมชน ต้องส่งเสริมให้มีการนำดิจิทัลมาใช้ตั้งแต่กระบวนการทางการเกษตร จนถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการจากชุมชนในรูปแบบออนไลน์ ด้านรัฐบาลดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำถึงการใช้ข้อมูล Big Data และการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้านการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายด้านดิจิทัลให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีข้อติดขัด และสนับสนุนให้การนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้มีความปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาด้านดิจิทัล คือ การพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อรู้เท่าทันสื่อ และสามารถใช้ความรู้ด้านดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ เห็นได้จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของ IMD ที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ปี 2563 อันดับที่ 39, ปี 2562 อันดับที่ 40) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เห็นว่าการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามและผลักดันการวางนโยบายและการดำเนินงานด้านโครงสร้างสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ... เพื่อให้การพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน ให้มีกลไกเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศ และก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งการมีองค์กรกลางในการกำหนดนโยบายและแผนกิจการอวกาศของประเทศให้เกิดความเป็นเอกภาพ รวมทั้ง ได้เห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) โดยสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิและตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ได้รับการพัฒนาและใช้งาน ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความโปร่งใส ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรมและสิทธิมนุษยชน และเห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบใน (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ... ของประเทศไทย โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาของสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางเทคโนโลยี และความยั่งยืนของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาทและส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกิจกรรมอวกาศของประเทศไทยที่มีพื้นฐานความพร้อม จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ แบ่งเป็นร้อยละ 95 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup และกิจการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาท
ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ทางกฏหมายและองค์กรเพื่อรองรับกิจการอุตสาหกรรมอวกาศเหล่านี้ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและความต้องการของภาครัฐ และเอกชนที่จะต้องการใช้ประโยชน์จากอวกาศมากขึ้น รวมถึงรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศไทยของเรา


กำลังโหลดความคิดเห็น