xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย’ เชื่อไทยขึ้นแท่นดิจิทัลฮับในอาเซียน ดึงเงินลงทุน OTT เข้าประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘หัวเว่ย’ มั่นใจไทยขึ้นแท่นดิจิทัลฮับในอาเซียน คาดดึงเงินลงทุน OTT เข้าประเทศ ชี้เป็นผลพวงจากการประมูลคลื่น 5G ก่อนใคร ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมพร้อมกว่าประเทศอื่น เสนอ 3 ข้อต่อบอร์ด 5G แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาสถานการณ์ทางการเมือง แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในรัฐบาลของประเทศไทยว่าธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายเรื่องดิจิทัล อีโคโนมี อย่างชัดเจน

ทำให้หัวเว่ยให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเข้ามาลงทุนอย่างจริงจัง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยการเลือกกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโอเพ่น แล็บ การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ในพื้นที่อีอีซี การเปิดศูนย์ 5G เพื่อทดลอง ทดสอบร่วมกับรัฐบาล เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม 5G ให้เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ หัวเว่ย เชื่อว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการเป็นดิจิทัลฮับในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) รวมถึงคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจอย่างจริงจังในการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ   

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านนี้ ซึ่งตนเองมีข้อ เสนอแนะ 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก นโยบายภาครัฐในการสนับสนุนนักลงทุน เช่น นโยบายการคลัง นโยบายด้านภาษี เป็นต้น 
เรื่องที่สอง ต้องมี 5G อินโนเวทีฟ เซ็นเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่สำนักงานเรียบร้อยแล้ว เป็นศูนย์แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน การจัดตั้งศูนย์นี้จึงเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยไปจนถึงในระดับภูมิภาค ใช้งบลงทุนมูลค่า 475 ล้านบาท ในการพัฒนาศูนย์ 5G EIC ซึ่งจะนำมาซึ่งโซลูชัน 5G แบบครบวงจร พื้นที่ทดลอง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G กับกลุ่มพันธมิตร ซึ่งหัวเว่ยยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปของไทยปีละกว่า 100 ราย โดยนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมแนวดิ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า 

และเรื่องที่สาม คือ การพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน 5G โดยเฉพาะเรื่องคลาวด์ และเอไอ ควรมีการจัด 5G อินโนเวทีฟ โปรแกรม การแข่งขัน เพื่อเฟ้นหาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้าน เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดการใช้งานคลาวด์ และเอไอ เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความชำนาญในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้น 

นายอาเบล กล่าวเพิ่มว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี  ด้วยการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์ และเอไอ มาใช้ประโยชน์ จึงมั่นใจว่าประเทศจะเข้าสู่ดิจิทัลฮับได้อย่างแน่นอน ซึ่งดิจิทัล อีโคโนมี ของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้คิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่สร้าง 50% และคาดว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 30% หลังจากนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ตามหลักภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาคอาเซียน บวกกับมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ทั้ง 3G, 4G และ 5G แล้ว ยังต้องมีความร่วมมือการทำงานกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคอุตสาหกรรม หากทำได้ประเทศไทยจะเป็นดิจิทัลฮับได้ไม่ยาก เมื่อนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ OTT จะย้ายฐานมาที่ประเทศไทยมากขึ้นจากเดิมที่อยู่ ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประเทศไทยเดินหน้ารูปแบบการทำงาน (ยูสเคส) 5G หลายด้านแล้ว เช่น การทำงานกับโรงพยาบาลศิริราช การทำโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ โครงการเกษตรดิจิทัลกับมหาวิทยาลัยวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำโดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 MHz และ 26 GHz ทำให้ประเทศไทยเปิดให้บริการ 5G ก่อนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่แข็งแกร่งก่อนใคร ในขณะที่ หัวเว่ย ก็จะลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง 

“ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่บริษัทนำเสนอครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Carrier การให้บริการเครือข่าย 4G, Enterprise การให้บริการหน่วยงานต่างๆ, Consumers การมีสินค้ารุกตลาดคอนซูเมอร์ และ Cloud & AI เพื่อให้สามารถส่งมอบอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรอบด้าน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น