เอนี่วิล (Anywheel) ผู้ให้บริการจักรยานขนส่งสาธารณะ เลือกใช้โครงข่าย IoT ซิมของดีแทค สนับสนุนการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ ช่วยลดมลพิษ สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสนับสนุนการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองของประชาชน และการเดินทางในช่วงโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายซีท เรีย เจีย ผู้จัดการทั่วไป เอนี่วิล สิงคโปร์ กล่าวว่า เอนี่วิลเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจในประเทศไทยและความตั้งใจในการช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตีอย่างแท้จริง โดยได้ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรกของไทย เพราะเล็งเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก
อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบริการ bike sharing อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงแรกบริษัทได้นำร่องให้บริการในพื้นที่ตัวเมือง โดยปัจจุบันมีจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุดรอบตัวเมืองเชียงใหม่ และสามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากกว่า 6,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ทางเอนี่วิล ยังมุ่งเน้นให้บริการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ติดตั้งจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุด
“ในยุคหลังโควิด-19 ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในอนาคต จะยังสนุกกับการขี่จักรยาน และเพลิดเพลินกับบรรยากาศในช่วงเดือนที่เชียงใหม่อากาศดี เราทราบดีว่าเชียงใหม่นั้นประสบกับปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี และก็หวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว”
ในการใช้งานจักรยานของเอนี่วิล ผู้ใช้งานเพียงค้นหาจุดจอดจักรยานที่ใกล้ที่สุดจากแผนที่ในแอปพลิเคชัน และสแกน QR โค้ด เพื่อปลดล็อกจักรยาน บริการของเอนี่วิล เริ่มต้นที่ 10 บาท ผู้ใช้งานยังสามารถเหมาจ่ายรายเดือนในราคาเริ่มต้นที่ 200 บาทอีกด้วย นับเป็นทางเลือกการเดินทางที่ย่อมเยาและสะดวกสำหรับตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสถานที่สำคัญต่างๆ นั้นอยู่ห่างกันไม่มาก
ในอนาคต บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์กับชีวิตในเมืองยิ่งขึ้น และมีแผนจะต่อยอดไปสู่การให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการแล้วในสิงคโปร์และมาเลเชีย เพื่อรองรับการเดินทางในระยะที่ไกลขึ้นสำหรับคนไทย
นายธนัท มนัญญภัทร์ ผู้อำนวยการ สายงานการขายและบริหารช่องทางจำหน่าย ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า การใช้ IoT จะทวีบทบาทมากขึ้น รองรับแชริ่งอีโคโนมี
โดยใช้ IoT ติดที่อุปกรณ์ ตั้งแต่รถจักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ยานพาหนะอื่นๆ ที่จะสามารถนำเสนอบริการ “ให้เช่าใช้” ได้ เพื่อสร้างรายได้ใหม่และยืดอายุการใช้งานให้คุ้มค่าสูงสุด สอดรับกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
ดีแทคคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะเร่งการลงทุน IoT ในองค์กรที่ยังมีสถานะการเงินที่พร้อม การใช้งานโครงการ IoT จะช่วยตอบโจทย์การรักษาระยะห่างทางสังคม และการทำงานจากภายนอกสำนักงานได้เป็นอย่างดี สอดรับกับกระแสวิถีความปกติใหม่ หรือนิว นอร์มอลนั่นเอง