xs
xsm
sm
md
lg

รายแรกของไทย! Almond สตาร์ทอัปไทยประเดิม AssistMe แชตบอทอัจฉริยะเพื่อออฟฟิศยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัลมอนด์ ดิจิทัล กรุ๊ป (Almond Digital Group) สตาร์ทอัปสัญชาติไทยผู้ให้บริการด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ตลาดและผู้บริโภค เปิดตัวแอสซิสต์มี (AssistMe) แชตบอทอัจฉริยะเพื่อองค์กรรายแรกในประเทศไทย บนแพลตฟอร์มการทำงานระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์ทีมส์ รับนิว นอร์มอลองค์กรยุคใหม่ด้วย 5 ฟีเจอร์เด็ด ประสานพนักงาน-องค์กรทำงานร่วมกันแบบดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ พนักงานลงเวลางานเข้าออก ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ขอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท แจ้งปัญหาง่ายแบบเรียลไทม์ ด้านองค์กรสามารถตรวจเช็กการทำงานและประเมินผลพนักงานได้แม่นยำ

น.ส.กษมา เจตน์จรุงวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลมอนด์ ดิจิทัล กรุ๊ป (Almond Digital Group) เปิดเผยว่า เทคโนโลยี Chatbot (แชตบอท) ได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยตอบคำถามแทนมนุษย์ โดยธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กได้นำมาเป็นเครื่องมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการกับคอนซูเมอร์อย่างแพร่หลาย (B2C) อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้กับการดำเนินงานขององค์กรได้ด้วยเช่นกัน (B2B) เนื่องจากข้อดีของแชตบอทคือประหยัดเวลา ประหยัดกำลังคน สามารถตอบสนองการตอบคำถามได้รวดเร็ว ตลอด 24 ชม. ด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ที่นับวันจะฉลาดมากขึ้น สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดกระแสดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตและส่งผลต่อพฤติกรรมผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กร เพื่อรองรับการทำงานรูปแบบทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงไวรัสระบาดหนัก ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการบริหารงานในองค์กรด้วยเช่นกัน


“หลังวิกฤตองค์กรมุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงล่วงหน้าหากต้องเผชิญต่อการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสอง หรือเมื่อต้องเผชิญต่อวิกฤตใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้องค์กรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถ และทักษะของพนักงานที่จะต้องทำงานร่วมกันแบบดิจิทัล รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการตั้งเป้าหมายในการทำงานและการประเมินพนักงาน ซึ่งแชตบอทนับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาเป็นตัวกลางช่วยประสานการทำงานระหว่างพนักงานกับองค์กรให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้แก่องค์กรในยุคฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤต”

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรยุคใหม่ Almond จึงได้พัฒนา AssistMe ผลิตภัณฑ์แชตบอทอัจฉริยะสำหรับใช้เพื่อองค์กรเป็นรายแรก เพื่อเข้าไปเติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในองค์กร นับเป็นการออกแบบและการพัฒนานวัตกรรมบน Microsoft Teams แพลตฟอร์มการทำงานยอดนิยมอันดับโลกที่เติบโตเร็วที่สุดของ Microsoft เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานรูปแบบใหม่ ด้วยการนำเอาจุดแข็งของ Microsoft Teams มาทำงานร่วมกันผ่านระบบการสนทนา (Chat-based workspace) และสามารถเชื่อมต่อกับระบบการทำงานอื่นๆ เช่น Office 365, Outlook มารวมกับ Insights ที่เกิดจากความเชี่ยวชาญด้านประสบการณ์ลูกค้ามีความเข้าใจในธุรกิจและพฤติกรรมของผู้ใช้งานชาวไทยของ Almond รวมเข้าด้วยกัน ยกระดับให้ Assist Me เป็นมากกว่าแชตบอททั่วไป โดยจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานขององค์กรในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

กษมา เจตน์จรุงวงศ์
5 ฟีเจอร์เด่นของ AssistMe ประกอบด้วย 1.Check in/Out พนักงานสามารถกดเข้าออกงาน เมื่ออยู่ในรัศมีที่ทำงาน 2.Leave request พนักงานสามารถแจ้งลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน เพื่อขออนุมัติผ่านระบบได้แบบเรียลไทม์ 3.Open ticket กรณีปฏิบัติงานในสำนักงานหากเกิดปัญหาสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร เช่น แอร์เสีย ไฟดับ น้ำไม่ไหล ไปจนถึงปัญหาส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

4.FAQ สามารถเรียกดูข้อมูลบริษัทที่ยากต่อการจดจำหรือคำถามที่พบบ่อยๆ เช่น รหัสไวไฟ เบอร์ติดต่อต่างๆ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นต้น และ 5.Power BI สำหรับฝ่ายบุคคล (HR) และผู้บริหาร (Manager) สามารถดู Performance และข้อมูลต่างๆ ของพนักงานผ่าน Microsoft Power BI โปรแกรมช่วยวิเคราะห์ สรุปผล และรวบรวมข้อมูล เช่น พนักงานมาทำงานกี่โมง ใช้เวลาในออฟฟิศกี่ชั่วโมง มาแสดงผลเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประกอบการตัดสินใจต่างๆ และต่อยอดให้องค์กรขับเคลื่อนด้วย Data Driven อย่างเต็มรูปแบบได้อีกด้วย

องค์กรที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อทดลองใช้งาน AssistMe ได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงสิ้นปี 2563




กำลังโหลดความคิดเห็น