ทีโอที จับมือมิวสเปซ ลุยดาวเทียมวงโคจรต่ำ ดีเดย์ทดสอบอุปกรณ์บริการดาต้า เซ็นเตอร์ในอวกาศกับจรวด Blue Origin ที่จะยิงขึ้นท้องฟ้า ในเวลา 22.00 น. วันที่ 24 ก.ย.นี้ พร้อมใช้เงินปรับเกตเวย์ภาคพื้นดินระยะแรก 100 ล้านบาท รับธุรกิจดาวเทียมในอนาคต มั่นใจเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำจะมาทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีสาย และบริการดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ พร้อมช่วยเสริมความแกร่งในการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างเต็มรูปแบบ
นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอทีได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้และโอกาสในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีไร้สาย ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) โดยทีโอทีได้จัดคณะทํางานเพื่อดําเนินการศึกษาพร้อมกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหาร และพนักงาน ประมาณ 50 คน เพื่อสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมในอนาคต โดยตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการให้บริการและเป็นศูนย์กลางเกตเวย์ภาคพื้นดิน ให้บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ในอนาคต
ทั้งนี้ ทีโอทีได้สร้าง Server Payload ที่ประกอบด้วย Web Server, IoT Platform และ Big Data Device เพื่อการส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ Blue Origin จรวดของบริษัทในเครืออเมซอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผ่านการทดสอบแล้วทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และจะทดลองยิงขึ้นฟ้าในวันที่ 24 ก.ย.2563 เวลา 22.00 น. ซึ่งทีโอทีได้ให้โอกาสเด็ก และเยาวชนจากโครงการ TOT Young Club เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนโปรแกรม (software) เพื่อติดตั้งไปพร้อมกับอุปกรณ์ของทีโอที จึงนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างโดยนักเรียนมัธยม ที่มีโอกาสทํางานบนสภาพแวดล้อมอวกาศในจรวด Blue Origin โดยการรันในโปรแกรมจริง และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำดาต้า เซ็นเตอร์ขึ้นไปทดสอบในอวกาศเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เนื่องจากอวกาศมีสภาพแวดล้อมเหมาะกับดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบประมวลผลสูงรวดเร็ว ที่ต้องการระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิติดลบเกือบ 300 องศาเซลเซียส ซึ่งในอวกาศทำได้ ดังนั้น บริการนี้จึงเหมาะกับการให้บริการที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรับส่งแบบรวดเร็วที่มีความหน่วงต่ำ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
นายมรกต กล่าวว่า ทีโอทีมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องท่อร้อยสายใต้ดิน เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของทีโอทีที่จะมุ่งไปสู่บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ซึ่งในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้านอวกาศจะมีศักยภาพสูงในหลายด้าน เช่น ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ จะทำได้ง่ายกว่าภาคพื้นดิน ด้วยคุณสมบัติที่ได้เปรียบของดาวเทียมวงโคจรต่ำที่มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้ามาแทนที่การให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทางสาย ที่มีความยุ่งยากในการติดตั้งและบํารุงรักษา และการลดต้นทุน ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้าง Internet Data Center และ IoT platform บนวงโคจรในอนาคตข้างหน้า
‘เบื้องต้น ทีโอทีได้ปรับปรุงเกตเวย์ภาคพื้นดินที่มีอยู่เดิมประมาณ 100 ล้านบาท ในการเตรียมความพร้อมสำหรับรุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเสรีดาวเทียม เชื่อว่าภายในปีหน้า กสทช.จะสามารถออกใบอนุญาตธุรกิจดาวเทียมได้ และทีโอทีมีแผนจะสร้างเกตเวย์เพิ่มอีกด้วย’
ขณะที่ นายวรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิว สเปซ กล่าวว่า การให้บริการเครือข่ายสถานีภาคพื้นดิน เพื่อบริการการรับและส่งสัญญาณดาวเทียมในระบบวงโคจรต่ำ รองรับการใช้งาน เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะทําให้การสื่อสารกระจายครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์และมีความสําคัญอย่างมากต่อการสื่อสารในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้นประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงการศึกษา ความรู้ อาชีพ และโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมและยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารของไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม
สำหรับเป้าหมายหลักสำคัญในการจับมือกับ ทีโอที เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านธุรกิจดาวเทียมโดยเริ่มที่โครงการการส่งอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถทํางานบน Space Environment ไปทดสอบบนอวกาศซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศให้แก่ประเทศไทยเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในไทยให้ก้าวหน้าทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ทีโอที และมิว สเปซ มีแผนงานในอนาคตที่จะทำการทดสอบการให้บริการ Space IDC/Platfrom และการสื่อสารระหว่างดาวเทียม Intersatellite Link โดยใช้เทคโนโลยี Space Laser รวมถึงมีแผนที่จะขยายจำนวนเกตเวย์เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งาน Multi-Orbit Satellite และ LEO Satellite ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์กับโครงข่ายดาวเทียม LEO ในอนาคตต่อไป