แคสเปอร์สกี้จัดสัมมนาชวนทุกฝ่ายคิดใหม่เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตีในยุคโควิด-19 ย้ำ 3 ปัญหาต้องแก้เพื่อเพิ่มการรับรู้และป้องกันไม่ให้เสียทีกับแฮกเกอร์ตัวร้าย เผยความฝันอยากให้มีวัคซีนสำหรับโลกไซเบอร์ซิเคียวริตีบ้าง ด้านตัวแทนหน่วยงานไซเบอร์ซิเคียวริตีของอินเดีย เรียกร้องให้นานาประเทศร่วมมือกันสางปมอาชญากรรมไซเบอร์อย่างจริงจัง ขณะที่ตัวแทนสิงคโปร์ กระตุ้นให้ทุกคนสร้างสัญชาตญาณด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของตัวเอง ส่วนญี่ปุ่น ยอมรับแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเผชิญต่อการโจมตีแบบฟิชชิงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ยูจีน แคสเปอร์สกี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kaspersky บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ APAC Online Policy Forum “Cyber-resilience in the ‘new normal’: risks and new approaches” ว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้คนออนไลน์กันมากขึ้น และองค์กรบริษัทก็ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานจากบ้านมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การโจมตีไซเบอร์เพิ่มขึ้นด้วย จากช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีการโจมตี 3 แสนครั้งต่อวัน ปัจจุบันระบบสามารถตรวจจับได้ 4 แสนครั้งต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 25% “ตอนนี้ไซเบอร์ซิเคียวริตียิ่งสำคัญมากขึ้น การมีโควิด-19 ทำให้แฮกเกอร์คิดกลยุทธ์ใหม่ต่อเนื่องตามพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป”
ยูจีนมองว่าปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลในยุคโควิด-19 คือ องค์กรจำนวนไม่น้อยละเลยความสำคัญของความปลอดภัยในโครงสร้างระบบข้อมูล ทำให้ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานประจำวันมากพอ ซึ่งเมื่อมีการนำบริการทางเทคนิคใหม่มาใช้ภายใต้รูปแบบการทำงานแบบใหม่ หน่วยงานก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ประชาคมระหว่างประเทศก็ยังมีความร่วมมือด้านความปลอดภัยข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้เชื่อว่าหากทุกประเทศร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถจับแฮกเกอร์ได้ทั้งหมด
มิโฮโกะ มัตสึบาระ ผู้อำนวยการแผนกความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตของ NTT เผยในงานสัมนาว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญต่อการโจมตีแบบฟิชชิงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะจุดอ่อนของบริษัทญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกันภายใต้นโยบายทำงานจากบ้าน
นอกจากนี้ หลายบริษัทยังไม่ใส่ใจฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้เพียงพอ คาดว่า 45% ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่มีการฝึกอบรมพนักงานในด้านซิเคียวริตีหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 40% ต้องการลดงบประมาณด้านความปลอดภัยลง ซึ่งอาจจะเพิ่มช่องโหว่ก็ได้
ขณะที่ เดวิด โกะ คณะกรรมการไซเบอร์ซิเคียวริตีของสิงคโปร์ มองว่า การสร้างสัญชาตญาณด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้นในผู้คนยุคนี้ ซึ่งไม่ว่าจะสอนโดยพ่อแม่ ครู หรือโรงเรียน ก็ล้วนควรต้องทำให้เต็มที่ และไม่ใช่เฉพาะในเขตเมืองหรือชนบท แต่ทุกที่ต้องให้ความสำคัญ โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องทำเฉพาะบางอุตสาหกรรม หรือบางกลุ่มคน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ควรต้องทำทุกคน
สัญชาตญาณด้านซิเคียวริตีที่พูดถึงนี้ โกะอธิบายว่า เมื่อประชาชนต้องการเลือกซื้ออุปกรณ์หรือดีไวซ์ ก็มักเลือกแต่สี คุณสมบัติ และกำลังไฟ แต่ไม่มีใครถามถึงเรื่องความปลอดภัย จุดนี้ตัวแทนสิงคโปร์มองว่าไซเบอร์ซิเคียวริตีควรต้องเป็นเรื่องง่าย เพราะปัจจุบันยังมีความซับซ้อนเกินกว่าที่บุคคลบางกลุ่มจะเข้าใจ ดังนั้น ควรมีการปรับให้ง่ายให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมีสุขภาวะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีที่ดีขึ้น
ด้าน พล.ท.ดร.ราเจส แพนต์ ผู้ประสานงานความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอินเดีย เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เนื่องจากตัวเลขอาชญากรรมไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยในอินเดีย โควิด-19 ทำให้มีผู้ใช้งานกลุ่มใหม่หลายพันรายเข้าสู่โลกออนไลน์และใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ดังนั้น อินเดียจึงเน้นการเผยแพร่ความรู้ให้ชาวอินเดียเข้าใจและระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์
สุดท้าย ยูจีน ทิ้งท้ายว่า ในขณะที่โลกรอวัคซีนป้องกันโควิด-19 ความฝันของเขาคืออยากให้มีวัคซีนสำหรับโลกไซเบอร์บ้าง แม้จะไม่ได้ช่วยปกป้องจากการโจมตีทั้งหมด แต่การที่ผู้ใช้มีความรู้เท่าทัน ก็จะลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีไซเบอร์ได้