เอปสันอ่วมพิษโควิด-19 ทำตลาดพรินเตอร์ไทยปีนี้หดตัว 10% เตรียมทางหนีด้วยธุรกิจ B2B เพื่อเป้าหมายคือให้มียอดขายเท่าปีที่แล้วให้ได้ ลุยทำรายได้จากธุรกิจเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมและหุ่นยนต์แขนกลเข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้ขาดทุนจากตลาดคอนซูเมอร์ที่หงอยเหงา แซวหุ่นยนต์ขายดี 200% ช่วงเมษายน-มิถุนายน 63 เพราะติดโควิด-19 ไม่ได้
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหารบริษัทเอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก วิกฤตการเมืองในหลายประเทศ และสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 7 แสนราย ล้วนทำให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการในตลาดพรินเตอร์และอุปกรณ์ไอที โดยการสำรวจจากบริษัทวิจัย GFK ช่วงมกราคม-มิถุนายน 63 พบว่า ตลาดรวมเครื่องพิมพ์ หรือพรินเตอร์มียอดขายลดลง 20% ส่วนที่ลดฮวบที่สุดคือยอดขายหน้าร้านค้าออฟไลน์ที่ลดลง 40% ขณะที่ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 22%
“เชื่อว่าทั้งปีตลาดพรินเตอร์จะติดลบ 10% แต่คาดการณ์นี้มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้สูงมาก อาจจะติดลบมากกว่านี้หากมีภาวะการเมืองหรือวิกฤต ถือเป็นปีที่คาดการณ์ยากมาก”
ตลาดพรินเตอร์หงอยเหงาไม่ได้เพิ่งทำร้ายเอปสันในปีนี้ แต่รายได้เอปสันลดลง 7% เมื่อปี 62 ที่ผ่านมา ทำให้เอปสันเริ่มต้น 2 เซอร์วิสใหม่สำหรับสินค้ากลุ่มพรินเตอร์ให้องค์กรเลือกเช่าเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตแล้วจ่ายค่าบริการแบบรายแผ่นหรือเหมาจ่ายแบบรายเดือนในช่วงมีนาคม 63 แต่แล้วเซอร์วิสนี้ก็ถูกกระหน่ำจากพิษโควิด-19 ทำให้ไม่เติบโตเท่าที่ควร
“ช่วงที่ติดลบมากคือเมษายน เพราะทุกอย่างปิดหมด ลูกค้าก็ระวังเรื่องการสั่งของ ไม่จำเป็นก็ไม่สั่ง สั่งน้อยลงเพราะต้องดูเรื่องสต๊อก แต่ตอนนี้เริ่มกลับมา เชื่อว่าไตรมาสนี้จะฟื้น ก.ค. ดีกว่าที่คาดไว้มาก ถ้าสดใสและไปต่อก็จะดี แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่คาดไม่ได้”
สำหรับไตรมาสใหม่ เอปสันย้ำว่าจะยังเดินไปตามกลยุทธ์เดิมที่เน้นธุรกิจ B2B เจาะกลุ่มองค์กรธุรกิจที่ต้องซื้อพรินเตอร์ไปใช้เชิงธุรกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม สินค้าที่มีการเติบโตดีคือเครื่องพิมพ์ฉลาก เครื่องพิมพ์หน้ากว้าง แขนกลและหุ่นยนต์ ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็น S Curve ที่เอปสันเชื่อว่าจะเจริญเติบโตได้ดีในไตรมาส 3-4 ปีนี้
“สินค้าที่เรามั่นใจและเข้าไปขาย คือ สินค้าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อาจไม่เห็นที่หน้าร้าน แต่เราทำตลาดดุเดือดมาก คือกลุ่มโฟโต้แล็ป ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเอปสัน เครื่องแอนะล็อกหรือใช้น้ำยา เชื่อว่าหมดไปแล้ว ตอนนี้ตลาดมีเกินพันเครื่อง มีการซื้ออุปกรณ์เสริมตลอด ธุรกิจพิมพ์รูปใหญ่จะกำไรสูงกว่ารูปเล็ก งานพิมพ์แฟชันดิจิทัลก็เติบโตดี เพราะหลายคนอยากได้เสื้อที่มีตัวเดียวในโลก” ยรรยง ระบุ
เอปสันชี้ว่า บริษัทจะเปลี่ยนแปลงขนาดธุรกิจ B2C จากสัดส่วน 75% และ B2B ที่คิดเป็น 25% ของรายได้รวมบริษัท มาเป็น 70% และ 30% โดยจะเน้นธุรกิจ B2B เพราะมั่นคง ขึ้นลงไม่แรงเท่าการจำหน่ายสินค้าในตลาดคอนซูเมอร์ ขณะเดียวกัน ก็สามารถขายสินค้ากลุ่มซัปพลาย เช่น หมึกพิมพ์หรืออุปกรณ์เสริมได้ต่อเนื่อง อนาคตจะเปลี่ยนเป็น 50% และ 50% ใน 5 ปีนับจากนี้
“สินค้าที่อยู่ตัวแล้วคือเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สินค้าที่จะโตคือเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตและโรโบติกส์ เชื่อว่า 2 ตัวนี้จะเป็นหลักในการบุกตลาด B2B”
เอปสันย้ำว่า จะลงทุนต่อเนื่องในช่วงหลังโควิด-19 โดยจะเน้นลงทุนสร้างทีมเข้ามาดูแลธุรกิจ B2B เต็มที่ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ นอกจากทีมเซลส์แล้วจะเน้นที่การขยายพันธมิตร เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการทำตลาด B2B ซึ่งไม่ใช่การซื้อมา-ขายไปด้วยราคา แต่ต้องดูแลลึกซึ้งกว่า ทั้งหมดนี้เอปสันจะทำร่วมกับการเทรน และการเพิ่มความคุ้มค่าให้สินค้า โดยเฉพาะมุมการรักษ์โลก ลดพลังงาน เครื่องไม่ร้อน ประสิทธิภาพสูง และรองรับการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน
“ปีนี้ถ้าภาพรวมโตให้เท่าปีที่แล้วก็ดีใจ คาดว่าจะโต 20% ในธุรกิจ B2B แต่อาจจะลดลง 7% ในตลาด B2C ปีนี้ตลาดคอนซูเมอร์ไม่ดีแต่เราเชื่อว่า B2B จะเข้ามาช่วย ปีหน้ายังบอกไม่ได้ เราเริ่มกลยุทธ์เน้น B2B มา 2-3 ปีแล้ว แต่เวลานั้นสินค้ายังไม่มาก ตอนนี้เริ่มเป็นขาขึ้น เลยทำมากขึ้น”
เอปสันเชื่อว่าตลาดหลักธุรกิจ B2B ของบริษัทคือกลุ่มบริษัทก่อสร้าง โฟโต้แล็ป โรงงานพิมพ์ผ้าขนาดใหญ่ ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตจะเน้นหน่วยงานการศึกษา เป็นโอกาสใหม่เพิ่มจากตลาดที่ทำยอดขายดีอยู่แล้วคือบริษัทประกันภัย ธนาคาร ห้าง และบริษัทขนส่ง
ที่น่าสนใจคือกลุ่มธุรกิจโรโบติกส์ เอปสันชี้ว่าเมษายน-มิถุนายน 63 ธุรกิจนี้เติบโตเกือบ 200% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยอมรับว่าขนาดธุรกิจยังไม่ใหญ่ และกินเวลาโครงการจำหน่ายนาน 8-9 เดือน
“ธุรกิจนี้มีทิศทางการเติบโตที่ดีในลูกค้ากลุ่มโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ และโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหุ่นยนต์เอปสันเด่นเรื่องงานละเอียด ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำงานบนชิ้นงานขนาดใหญ่“ ยรรยง ระบุ “เรายังแซวกันเองว่าทำไมหุ่นยนต์ขายดี อาจจะเพราะว่าหุ่นยนต์ติดโควิด-19 ไม่ได้”
ดังนั้น หุ่นยนต์ของเอปสันจึงขายดีมาก ทำยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในช่วงที่โลกยังวุ่นวายกับโควิด-19