กทปส. โชว์นวัตกรรมผลสำเร็จงบฯ วิจัย “Skan & Go” โปรแกรมล้ำรับมือสู้โควิด-19 “รู้พื้นที่เสี่ยง-รู้จุดเช็กอินสุดปลอดภัย” เตรียมหนุนการใช้งานฟรีทุกพื้นที่ทั่วไทย
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กทปส. ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งยกระดับการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ของคนไทยในทุกมิติ ทั้งข้อมูลข่าวสารและทุกสิทธิประโยชน์พึงได้ ผ่านระบบสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย
“นอกจากนี้ ยังมุ่งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 การมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามอย่างรัดกุม ทั้งในกลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อ ผู้ป่วยติดเชื้อ และติดตามอาการผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการรักษาทางการแพทย์ และป้องกันการกระจายของโรคเป็นวงกว้าง ตลอดจนคลี่คลายสถานการณ์ให้อยู่ในภาวะปกติโดยเร็ว”
การพัฒนานี้เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ “อินเทอร์เน็ต” ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งเพื่อการสื่อสาร ติดตามข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง แต่ถึงอย่างนั้นยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในมิติต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ในหลายประเทศได้นำอินเทอร์เน็ตไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ และแจ้งเตือนปัญหาที่เสี่ยงกระทบต่อสุขภาพของผู้คนจำนวนมาก เช่น AirVisual แอปตรวจสอบคุณภาพอากาศทุกพื้นที่ทั่วโลก พร้อมแสดงค่าฝุ่นและควันในรูปแบบตัวเลขและเฉดสี เพื่อให้ผู้คนสามารถเตรียมอุปกรณ์ป้องกันได้อย่างทันท่วงที รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่
ทั้งนี้ หนึ่งในงานวิจัย และนวัตกรรมที่ กทปส. ได้ให้การสนับสนุนภายใต้งบประมาณให้สถานพยาบาลของรัฐต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 (รอบที่ 2) รวมมูลค่า 6.2 ล้านบาท จนเกิดเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือ “Skan & Go” จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โปรแกรมที่ช่วยเก็บเรคคอร์ดทุกจุดเช็กอิน เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) และไปต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วยย้อนหลัง นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี กทปส. เล็งผลักดันการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคตที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้หรือการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในภาคประชาชน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทย รวมถึงสถานพยาบาลไทยนับเป็นมาตรฐานการรักษาที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศอย่างไร้ข้อกังขา
แต่ทว่า การติดตามและควบคุมโรคไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างยังเป็นข้อจำกัดด้วยปัจจัยของการเกิดโรคอุบัติใหม่ ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงทำการศึกษากรณีต่างประเทศที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่าง “จีนและเกาหลีใต้” ซึ่งพบว่า เป็นการหยิบยกเทคโนโลยี Tracking and Tracing มาประยุกต์ใช้ในการบันทึกประวัติการเดินทางของประชากรในสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบถึงประวัติการเดินทางย้อนหลังของผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้นว่า เดินทางไปที่ใดบ้าง อีกทั้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและถือกำเนิด โปรแกรม “Skan & Go” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจาก กทปส. กว่า 6 ล้านบาท โปรแกรมที่ช่วยให้การเรคคอร์ดทุกจุดเช็กอินเป็นเรื่องง่าย เพียง “สแกนและไปต่อ” ที่มาพร้อมฟังก์ชันในการแสดงผลความเสี่ยงของพื้นที่นั้นๆ ใน 3 เฉดสี คือ “สีแดง” พื้นที่ติดเชื้อ “สีส้ม” พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และ “สีเขียว” พื้นที่ปลอดภัย อีกทั้งยังมาพร้อมความสามารถในการเช็กเอาต์อัตโนมัติ เมื่อเช็กอินโลเกชันใหม่ ทั้งนี้ ประวัติการเดินทางทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับในฐานข้อมูลกลาง แต่ในกรณีที่ผู้ใช้งานได้เช็กอินในที่เดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยละเอียด นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถดาวน์โหลดประวัติการเดินทางในรอบ 14 วันให้แก่ทีมแพทย์ได้ทันที เพื่อลดขั้นตอนการซักประวัติการเดินทาง รวมทั้งป้องกันการตกหล่นในการให้ข้อมูลของผู้ป่วย
ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวมุ่งประโยชน์แก่ผู้ใช้งานใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนผู้ใช้งาน ที่จะได้ทราบถึงระดับความเสี่ยงของพื้นที่ปลายทางว่าอยู่ระดับใด ผู้ประกอบการเจ้าของสถานที่ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปิดหรือเปิดสถานประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ สามารถใช้ตรวจสอบประชาชนที่เข้ามาใช้บริการต่อผู้ป่วย ในช่วงเวลานั้นๆ ว่าเป็นใครบ้าง พร้อมทำการส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนเพื่อกลับเข้ามาตรวจหาความเสี่ยงติดเชื้อ และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เพื่อวางมาตรการในการทำความสะอาดพื้นที่ รวมถึงการนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค โดยโปรแกรมนี้มีได้นำร่องใช้จริง ณ โรงพยาบาลศิริราช เรียบร้อยแล้ว โดยมีการติดตั้งจุดสแกน QR Code รวมกว่า 700 จุด ที่มีอัตราการรวมตัวของคนจำนวนมาก โดยรอบโรงพยาบาล เช่น ห้องบัตร ห้องตรวจ ห้องจ่ายยา
ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนได้นำโปรแกรม “Skan & Go” ไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ มากกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศไทย โดยหากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ รวมถึงประชาชนท่านใดที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์มาได้ที่ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 0-2419-7000 (ในวันและเวลาราชการ) เพื่อดำเนินการจัดหาเจ้าหน้าที่ในการอบรมพร้อมให้คำแนะนำการใช้งานโดยละเอียดเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอขอบคุณ กสทช. กทปส. ที่ได้ให้การพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาโปรแกรม “Skan & Go” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปปรับใช้ในบริบทต่างๆ ได้อย่างรัดกุมและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งานของผู้คนอย่างแท้จริง