ครบ 1 ปีไลน์ประกาศวิสัยทัศน์ “Life on LINE” พบ LINE ประเทศไทยดันฐานผู้ใช้เติบโตกว่า 2 ล้านคนใน 1 ปี ทุบสถิติเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่ผู้ใช้งานใช้เวลาบนแพลตฟอร์มเฉลี่ย 1/3 ของเวลาที่ออนไลน์ ยอมรับหากรัฐควบคุมค่าส่งอาหารอาจกระทบบริการ LINE MAN มั่นใจแม้จะมีผลแต่เชื่อว่ารองรับได้เพราะอยู่ในตลาดมานาน รู้กลไกที่จะทำให้อยู่รอด
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีมติเห็นชอบให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์เป็นบริการควบคุมตาม พ.ร.บ. สินค้าและบริการ พ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยยอมรับว่าการควบคุมนี้อาจกระทบกับธุรกิจ LINE MAN ในภาพรวม
"ยังไงก็มีผล แต่เราเชื่อว่ายังรองรับได้เพราะอยู่ในตลาดมานาน เรารู้กลไกที่จะทำให้อยู่ได้ เราเป็นแพลตฟอร์มแรกที่ลงไปสำรวจร้านค้า วันนี้ LINE มีข้อมูลไม่ต่ำกว่า 1 แสนร้านค้าในมือ ข้อมูลร้านค้ามากมายเหล่านี้ทำให้เรามีทางพัฒนาธุรกิจให้ตอบรับกับกฏหมายได้"
LINE MAN ถือเป็นหนึ่งในบริการหลักที่ LINE ประเทศไทยได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ในปี 2562 จุดยืนที่ LINE มองคือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย (Life Infrastructure) จึงได้ต่อยอดหลายบริการใหม่ตามวิสัยทัศน์นี้เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต จนส่งผลให้เกิดผู้ใช้งานใหม่จำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 2 ล้านคนในเวลา 1 ปี
ในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริการ LINE MAN ที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับประทานของอร่อยโดยไม่ต้องออกจากบ้าน มีการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึง 300% เทียบกับการใช้งานในสถานการณ์ปกติ
"LINE MAN โต 3 เท่าตัวช่วงล็อกดาวน์ อาหารที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 คืออาหารไทย รองลงมาเป็นอาหารอีสาน และอาหารตามสั่ง อาหารดาวรุ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นคือปิ้งย่าง แสดงว่าต่อให้ล็อกดาวน์ ผู้บริโภคก็ยังต้องการใช้ชีวิตปกติ"
นอกจาก LINE MAN ยังมี LINE Call ที่ทำยอดการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นเกิน 200% เมื่อเทียบเดือน ม.ค. และ มี.ค. 2563 ทั้งการใช้งาน Voice call และ VDO call ขณะที่ LINE Official Accout หรือ LINE OA เพิ่มจาก 3 ล้านเป็น 4 ล้านบัญชี ณ เดือนพฤษภาคม 2563
ผลจากธุรกิจร้านค้าต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ติดขัดในยุควิกฤติ ยังส่งให้ยอดการเติบโตของจำนวนร้านค้าที่ใช้ MyShop (No. of Shops Growth Rate) สูงถึง 180% (ณ เดือนเม.ย. เติบโตจากต้นปีคือเดือน ม.ค. 2563) โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบน LINE Official Accoint ที่ใช้เครื่องมือ MyShop นี้อยู่เป็นหลักหมื่น จากช่วงแรกที่มีเพียงหลักร้อย หลักพันเท่านั้น
4 ปัจจัยผลักดันความสำเร็จ LINE ประเทศไทย ดร.พิเชษฐ มองว่าเพราะ LINE ประเทศไทยมีทัศนคติที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นความคิดของตัวเองจนมองปัญหาให้เป็นโอกาสได้เสมอ นอกจากนี้คือความรวดเร็ว ที่ทำให้ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้คล่องตัว ยังมีความเข้าใจและเข้าถึงซึ่งบริษัทศึกษาและทำความเข้าใจในพฤติกรรมผู้ใช้งาน สังคม และวัฒนธรรม และนำมาปรับใช้กับในทุกประเทศที่ LINE เข้าไปดำเนินธุรกิจ สุดท้ายคือการโฟกัสที่การยกระดับชีวิตของทุกคน
"คนอื่นอาจมองว่าความท้าทายของ LINE ประเทศไทยคือคู่แข่งทางการค้า แต่สำหรับผมมองว่าไม่ใช่ เพราะการมีคู่แข่งทำให้ตลาดโตขึ้น และจริงๆแล้วเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลยังมีพื้นที่ให้โตค่อนข้างเยอะ ความท้าทายแรกคือเราจะมีความคล่องตัวแล้วปรับบริการเราให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกให้ดีที่สุดแบบทันท่วงทีได้อย่างไร ความท้าทายที่ 2 คือเราจะตอบโจทย์ผู้โฆษณาได้อย่างไร แต่เรามีการศึกษาพฤติกรรมทุกฝ่ายอย่างละเอียด ทำให้มั่นใจว่ามีโซลูชันที่ตอบโจทย์ได้ เป็น 2 ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่เราต้องดูปีนี้".