โนเกียโชว์ผลวิจัยย้ำปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน 5G สำหรับระบบ IT และ OT ในองค์กร พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกเร่งการวางเครือข่าย 5G ลุยเน้นบริการใหม่ในรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ
จอช อโรเนอร์ รองประธานฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการด้านการสื่อสารของโนเกีย กล่าวว่าโนเกียดำเนินการสำรวจล่าสุดเพื่อไขความกระจ่างเกี่ยวกับ 5G โดยเฉพาะในประเด็น ปัจจัยที่จะทำให้องค์กรนำ 5G ไปใช้กับ แอปพลิเคชัน WAN และ LAN ขององค์กร ผลสำรวจนี้ยังช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารได้มองเห็นโอกาสและช่องทางสร้างรายได้จากการให้บริการที่ลูกค้าองค์กรพร้อมจะลงทุน
“เราคาดว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเป็นการเร่งให้เกิดการวางแผนการใช้งาน 5G ในระยะยาวที่มุ่งเน้นเรื่องระบบดิจิตอล ระบบการจัดการอัตโนมัติ และระบบวิเคราะห์ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการรักษาระยะห่างทางกายภาพ การสังเกตการณ์และ การทำงานจากระยะไกล ขณะนี้เราเข้าใจการใช้งานเครือข่ายมากขึ้น และเห็นว่าผู้ให้บริการ ด้านการสื่อสารควรเริ่มลงทุนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อที่จะสามารถ ให้คำแนะนำกับลูกค้าองค์กรด้วยความรู้เกี่ยวกับ 5G ที่มากขึ้น”
งานวิจัยใหม่ที่โนเกียปักหลักในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ผ่านความร่วมมือกับบริษัทพาร์คส์ แอสโซซิเอทส์ (Parks Associates) เป็นงานที่ลงมือสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจ ด้าน IT มากกว่า 1,000 คนจากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต หน่วยงานราชการ/หน่วยงานด้านความปลอดภัยสาธารณะ และอุตสาหกรรมยานยนต์ และหน่วยงานในระบบขนส่งมวลชน
การสำรวจพบว่า 65% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้าน IT ขององค์กตระหนักถึง 5G โดยหนึ่งในสามกำลังใช้งานอยู่ และอีก 47% ได้เริ่มวางแผนในการนำ 5G มาใช้ หลายธุรกิจมองบริการวีดิโอเป็นส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดในการใช้งาน 5G ผ่านระบบ WAN และ LAN ขณะที่ 61% ของธุรกิจต่างๆเตรียมพร้อมหาข้อมูลและปรึกษาผู้ให้บริการเครือข่าย ไร้สายเพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการใช้ 5G
ผลสำรวจตอกย้ำว่าวีดิโอเป็น ”killer application” สำหรับ 5G ในหลากหลายอุตสาหกรรมและ ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ โดย 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่าวีดิโอเป็นบริการที่น่าสนใจมาก และ 48% ตอบว่ามีโอกาสใช้ 5G ในการสังเกตการณ์ผ่านวีดีโอในอนาคตอันใกล้ (0-4 ปี) โดยผู้ตอบแบบสำรวจเข้าใจอยู่แล้วถึงประโยชน์เพิ่มเติมของ 5G ต่อบริการด้านวีดิโอ โดย 83% บอกว่าการแจ้งเตือนทางวีดิโอเช่นการตรวจจับและระบุตัวตนในพื้นที่ควบคุมจะเป็นประโยชน์อย่างมาก รองลงมา 77% สนใจเรื่องการควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกล และ 73% สนใจในเรื่องรถยนต์ที่เชื่อมต่อผ่าน 5G (connected cars)
นอกจากนี้ บริษัทด้านพลังงานและอุตสาหกรรมการผลิตเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจ 5G มากที่สุด โดยเฉพาะศักยภาพของ 5G สำหรับการใช้งาน WAN/LAN ขั้นสูง อาทิ การซ่อมบำรุง โครงสร้างพื้นฐาน การควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกล และ การใช้งานหุ่นยนต์อัตโนมัติ ผ่านคลาวด์
ที่สำคัญ ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) สนใจประสบการณ์เสมือนจริง (AR หรือ VR โดยใช้ 5G) แม้กระทั่งก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีหน้าที่ดูแล ด้าน IT มากกว่า 52% เห็นว่าการฝึกอบรมพนักงานโดยใช้เทคโนโลยี 5G AR/VR มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และผู้ตอบแบบสำรวจจากภาคการศึกษามากกว่าสองในสาม (67%) ให้ความสนใจในการเรียนสอนการสอนแบบออนไลน์ที่สามารถโต้ตอบกันได้
ขณะเดียวกัน 77% ของบริษัทที่ใช้อุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่ออยู่แล้วพบว่าการควบคุมเครื่องจักรระยะไกล โดยใช้เทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องน่าสนใจ ในขณะที่ 82% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีการใช้งาน หุ่นยนต์อัตโนมัติผ่านคลาวด์ ห็นว่าการใช้งานหุ่นยนต์อัตโนมัติผ่านคลาวด์โดยใช้เทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
ด้านกลุ่มบริษัทที่มีการใช้งานยานพาหนะ 74% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสนใจ ในยานพาหนะที่เชื่อมต่อผ่าน 5G จากผลสำรวจจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าการนำ 5G ไปใช้งานกับยานพาหนะเพื่อผลทางด้านความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัย เช่นการตรวจตราพื้นที่เฉพาะและพื้นที่สาธารณะ หรือการให้บริการด้านระบบขนส่งมวลชน ได้รับความสนใจสูงสุด
สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access หรือ FWA) เป็นบริการที่น่าสนใจที่สุดสำหรับกลุ่มกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดย 73% ของกลุ่มนี้ สนใจจะใช้บริการ ถ้าค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพในการใช้งานอยู่ในระดับเดียว กับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางสายสัญญาณที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน