การสนับสนุนนักศึกษาให้เรียนรู้ และพัฒนาการเขียนโค้ด (Coding) ด้วย Swift playground ของแอปเปิล (Apple) ถือว่าาเป็นกิจกรรมที่มีการจัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในช่วงสำคัญก่อนการจัดงานประชุมนักพัฒนาประจำปีอย่าง World Wide Developer Conference (WWDC) ที่จะมีการจัดประกวด Swift Student Challenge ขึ้น เพื่อคัดเลือกเยาวชนนักพัฒนาจากทั่วโลก และได้รับสิทธิเข้าร่วมงานดังกล่าวแบบฟรีๆ
โดยจากบรรดาผู้เข้าร่วมงานก็จะมีผู้ชนะการแข่ง Swift Student Challenge จำนวน 350 คนจาก 41 ประเทศ/ภูมิภาค นักเรียนเหล่านี้ได้รับเลือกจากผลงาน Swift Playgrounds ของตัวเองที่ส่งเข้ามา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปีของ Apple ที่มีขึ้นเพื่อเชิดชูความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับนักเขียนโค้ดและครีเอเตอร์รุ่นใหม่
ในปี 2020 นี้ แม้ว่างาน WWDC2020 จะเปลี่ยนรูปแบบมาจัดงานในลักษณะของออนไลน์แทน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ทางแอปเปิล ก็ยังคงมีการจัดงานประกวดขึ้นเช่นเดิม และที่พิเศษคือในปีนี้ มี 2 เยาวชน นักเรียน-นักศึกษาไทย ที่ได้รับการคัดเลือกจากงานประกวดนี้
สำหรับแอปพลิเคชันที่ พอใจ รางศรี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จะเป็นแอปฯ ที่ได้แนวคิดมาจากการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะผู้พิการทางการพูด และการได้ยิน ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไป ซึ่งมีข้อจำกัดในการสื่อสารต่างๆ ที่อาจจะไม่สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารกับทุกคนได้
จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่มาช่วยใช้ในการสื่อสาร โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีที่เจ็บป่วย ถูกทำร้าย หรือต้องการความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน ที่ออกแบบมาในลักษณะของปุ่มกดเพื่อใช้ในการสื่อสารประเภทต่างๆ หลังจากผู้พิการกดแล้ว ก็จะแปลงเป็นเสียงออกมาทางสมาร์ทโฟนให้ผู้อื่นได้ยิน
โดยในอนาคต พอใจ หวังว่าจะสามารถเรียนรู้ และพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถสร้างอิมแพคให้แก่สังคมได้มากกว่า โดยเฉพาะการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือคนพิการ และผู้สูงอายุ เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วย
ในขณะที่ ภูมิ เพ็งหิรัญ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เพิ่งจบการศึกษา ปัจจุบันเริ่มเข้าไปทำงานเป็นนักพัฒนาบริษัทซอฟต์แวร์ในกรุงเทพฯ นำเสนอผลงานแอปพลิเคชัน ที่ช่วยคำนวนตารางเรียนในกลุ่มเพื่อน ด้วยการพัฒนาอัลกอรึธึมมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการกลงตาเรียนของกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ก่อนสร้างเป็นตารางทุกรูปแบบออกมาให้เลือก
ความยากในการพัฒนาแอปฯ คือต้องการให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนได้ทันเวลา พร้อมไปกับเน้นเรื่องความถูกต้องของอัลกอรึธึม และยูสเซอร์อินเตอร์เฟสที่สวยงาน ใช้งานง่าย โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 1-2 เดือน
ส่วนแผนงานในอนาคต ภูมิ ให้ความสนใจกับการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ (Bioinformatic) ที่เป็นการศึกษาชีววิทยามาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ในการคำนวน ที่มองว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และมีโอกาสต่อยอดไปได้ในอนาคต
สำหรับ 2 นักเรียน-นักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Swift Student Challenge จะได้รับสิทธิในการเข้าร่วมประชุมนักพัฒนาออนไลน์ WWDC2020 ในปีนี้ พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมรับฟังสัมมนาเชิงเทคนิคระดับสูง และการพูดคุยกับนักพัฒนาของทาง Apple เพื่อพัฒนางานต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันไทยมีนักพัฒนาที่ได้รับเลือกจากโครงการ Swift Student Challenge ด้วยกันทั้งหมด 4 คน โดยเริ่มจากในปี 2015 กีรติจุฑา ภูมิจิตร ขณะที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ พัชรพล จอกสมุทร นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2019 จนถึงปีล่าสุดคือ 2020 ที่ได้รับเลือก 2 คน คือ พอใจ และ ภูมิ