xs
xsm
sm
md
lg

ฝันร้ายของ 'หัวเว่ย'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลายพฤษภาคม 63 สื่อทั่วโลกตีข่าวว่าอังกฤษกำลังหาทางรวมหลายหน่วยงานเพื่อเป็นพันธมิตรในการสร้างอุปกรณ์ 5G ให้ประเทศมีทางเลือกอื่นนอกจากหัวเว่ย (Huawei) ข่าวนี้ว่าร้ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ข่าวร้ายที่สุดที่ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนต้องเผชิญ เพราะสิ่งที่น่าหนักใจคือข่าวนี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของนานาอีเวนท์ต่อต้าน 5G ของหัวเว่ยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศข้อตกลงอนุมัติให้หัวเว่ยสามารถตั้งเครือข่าย 5G มากกว่า 35% ใน 'พื้นที่นอกเขตเมือง' คำถามคือแล้ว 5G ในพื้นที่ไข่แดงอย่างลอนดอนจะอยู่ในอุ้งมือใคร?

คำตอบคืออำนาจการเมือง สื่อต่างชาติชี้ว่าอังกฤษมีผู้คัดค้านจีนขาใหญ่หลายคนในรัฐสภา ยิ่งเมื่อผสมความโกรธแค้นเรื่องการระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน พร้อมใจต่อต้านหัวเว่ยมากขึ้น งานนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษเปลี่ยนท่าที ไม่หนุนให้หัวเว่ยเข้ามาตั้งเครือข่าย 5G บนเส้นตายภายในปี 2023 เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการพิพาทในรัฐสภาหรือความพ่ายแพ้ทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น

ล่าสุด นายกฯ จอห์นสัน ดูเหมือนจะขยับท่าทีก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะกำลังพยายามดึงกลุ่มประเทศ G7 เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินเดียมาเป็นแนวร่วมเรื่อง 5G การรวมตัว 10 ประเทศที่อังกฤษเรียกว่า D10 นี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามครั้งแรกในการตอบคำถามของนานาประเทศ ซึ่งสหรัฐฯเอ่ยปากขอให้ต่อต้านหัวเว่ยแต่ก็ไม่ได้เสนอทางเลือกที่เหมาะสมไว้ให้


ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก ในสัปดาห์เดียวกันกับการประกาศเรื่อง D10 ศาลฎีกาของบริติช โคลัมเบีย ได้อ่านคำตัดสินเมื่อวันพุธ 27 พฤษภาคม ให้ส่งตัวประธานฝ่ายการเงินของหัวเว่ย 'เมิ่ง หว่านโจว' ไปขึ้นศาลสหรัฐฯ ข่าวนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเมิ่งนั้นเป็นลูกสาวของ 'เหริน เจิ้งเฟย' ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกปล่อยตัวและเดินทางกลับไปยังประเทศจีน การตัดสินครั้งนี้แปลว่าลูกสาวของนายใหญ่กำลังต้องถูกส่งตัวไปไต่สวนคดีที่สหรัฐอเมริกา ในข้อหาว่าหัวเว่ยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยยังถูกเล่นงานในหลายพื้นที่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแผนการสร้างเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลซึ่งเชื่อมต่อปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็ยังถูกยกเลิกเมื่อออสเตรเลียเข้ามาแทรกกลางเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่เขตแปซิฟิกใต้ โดยออสเตรเลียเสนอให้ปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนเข้าร่วมข้อตกลงที่จะได้รับทุนส่วนใหญ่จากออสเตรเลียแทน

ยังมีประเด็นที่เอกอัครราชทูตจีนประจำเดนมาร์ก ตกเป็นข่าวว่าข่มขู่หมู่เกาะแฟโรเพื่อทำข้อตกลงทางการค้ากับหัวเว่ย หมู่เกาะนี้มีประชากรไม่ถึง 50,000 คน เป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก แต่ได้รับอิสระในการปกครองตนเอง ซึ่งแม้นางหัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนจะปฏิเสธข่าวนี้ แต่การที่เดนมาร์กลุกขึ้นมาออกข้อกำหนดด้านความปลอดภัยใหม่ ก็ทำให้หัวเว่ยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องออกจากตลาดเดนมาร์กไปอย่างสิ้นเชิง

จุดเปลี่ยนหัวเว่ย?


สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าฝันร้ายเหล่านี้กำลังดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของหัวเว่ยในการต่อสู้ศึก 5G ทั่วโลก เรื่องนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น ส่วนแรกคือการแตกหักกับอังกฤษอาจกระทบธุรกิจ 5G ของหัวเว่ยอย่างรุนแรง เพราะการตั้งศูนย์ประเมินความปลอดภัยทางไซเบอร์ Huawei Cyber Security Evaluation Centre ที่รัฐบาลอังกฤษรับรองนั้นถือเป็นสัญญาณที่มีค่าในสายตาของรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบว่าอุปกรณ์หัวเว่ยมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งหากอังกฤษยังโบกมือลา ก็มีโอกาสที่เกมจะพลิกในตลาดอื่นด้วย

ส่วนที่ 2 คือคดีของ 'เมิ่ง' แม้จะฟังดูแล้วเป็นคดีที่มีพื้นฐานอิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ท้ายที่สุด คดีนี้จะฟันธงข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยทำหน้าที่เป็นแขนของรัฐบาลจีนหรือไม่ ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯพยายามมองหาข้ออ้างในการยื่นฟ้องหัวเว่ยมาหลายปี ขอเพียงคดีนี้คดีเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะเชื่อมโยงข้อหาของเมิ่งเข้ากับประเด็นทางการเมือง

ความพ่ายแพ้ของหัวเว่ย ที่สหรัฐฯชนะคดีในศาลฎีกาบริติช โคลัมเบีย ถูกมองว่าจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มการขยายขอบเขตมาตรการทางกฎหมายออกไปทั่วโลก ชัยชนะของสหรัฐฯจะทำให้ระบบการคว่ำบาตรมีดีกรีรุนแรงขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นถึงความหายนะของบริษัทใดก็ตามที่ละเมิดคำสั่งของสหรัฐอเมริกา

นอกจากกรณีของเมิ่ง ยังมีกรณีของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอย่างทีเอสเอ็มซี (TSMC) ซึ่งประกาศชัดแล้วว่าจะไม่ขายสินค้าให้กับหัวเว่ยอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการส่งออกที่สหรัฐฯออกมาใหม่


กัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานประชุมนักลงทุน Huawei Global Analyst Summit (HAS) ครั้งที่ 17 ว่ามาตรการล่าสุดของสหรัฐฯที่ดำเนินการกับหัวเว่ยกำลังสร้าง 'ราคาที่แย่' ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก โดยบอกว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนกำลังส่งผลเสียต่อชาวโลกและชาวอเมริกันเอง เวลานั้นผู้บริหารยอมรับว่าหัวเว่ยได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากคำสั่งนี้ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เรื่องการห้ามผู้ผลิตชิปทุกรายใช้อุปกรณ์จากบริษัทอเมริกันในการผลิตหรือจัดหาสินค้าให้หัวเว่ยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ

คำถามที่หลายคนอยากรู้ตอนนี้ คือหากนี่เป็นจุดเปลี่ยนในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระดับโลกของสหรัฐฯ - จีนจริง รูปการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร นอกจากการรอดูสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯจะประกาศออกมาใหม่ และการติดตามคดีของเมิ่งในชั้นศาล สิ่งที่โลกและหัวเว่ยต้องจับตาจึงเป็นการรอดูแรงกดดันรอบใหม่ในยุโรป

เหตุผลเป็นเพราะกำหนดเส้นตายที่สมาชิกสหภาพยุโรปจะออกโปรโตคอลความปลอดภัย 5G กำลังใกล้เข้ามา (ภายในไตรมาส 3 ปีนี้) แต่การผลักดันทางการทูตของสหรัฐฯในประเด็น 5G ยิ่งคุกรุ่นเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯพุ่งเป้ามาให้อังกฤษเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง

ใจดีสู้เสือ


ถามว่าหัวเว่ยและรัฐบาลจีนตอบสนองอย่างไรในเวลานี้ สิ่งที่เห็นชัดคือการพยายามใจสู้และหาแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะหัวเว่ยที่เปล่งเสียงประกาศความเคลื่อนไหวในบริษัทอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนพฤษภาคม กลายเป็นช่วงเวลาทองที่หัวเว่ยจัดงานแถลงข่าวและร่อนจดหมายประชาสัมพันธ์ถึงสื่อไทยมากที่สุด

นอกจากความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยี 5G คลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่หัวเว่ยพยายามโชว์ให้โลกเห็น ก้าวล่าสุดที่หัวเว่ยกำลังขยายตลาดอย่างจริงจังคือตลาดออฟฟิศอัจฉริยะที่รองรับการทำงานทุกสถานการณ์

พาน หย่ง รองประธานฝ่ายขายเชิงเทคนิค Intelligent Vision และ Intelligent Collaboration กลุ่มธุรกิจคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของหัวเว่ย เปิดเผยถึงกลยุทธ์ออฟฟิศอัจฉริยะที่หัวเว่ยจะเดินหน้าทำตลาดท่ามกลางมรสุมสุดโหด ว่าจะใช้กลยุทธ์ 1+3+X เพื่อมอบเครื่องมือการทำงานที่มีประสิทธิภาพแบบใหม่ในยุคแห่งเทคโนโลยีคลาวด์ให้กับผู้ใช้งานในระดับธุรกิจองค์กร โดยเลข 1 หมายถึงการเปลี่ยนออฟฟิศสู่ระบบดิจิทัลและการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบนบริการหัวเว่ยคลาวด์มีตติ้ง (Huawei Cloud Meeting) ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ให้บริการโดยหัวเว่ยคลาวด์ (Huawei Cloud)

ขณะที่เลข 3 หมายถึงอุปกรณ์ปลายทาง 3 ประเภทที่ทำงานร่วมกันแบบอัจฉริยะ ประเภทแรกคืออุปกรณ์สำหรับประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ประเภทที่สองคือชุดอุปกรณ์ไอเดียฮับ (IdeaHub) ที่หัวเว่ยเพิ่งเปิดตัวและประเภทที่สามคือชุดอุปกรณ์เดสก์ท็อปอัจฉริยะ (Intelligent Desktop) ที่กำลังจะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ส่วน X หมายถึงการร่วมมือแบบเปิดกว้างและการสร้างอีโคซิสเต็มให้ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยหัวเว่ยกำลังทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ด้านอีโคซิสเต็มเพื่อยกระดับการบริการไปอีกขั้น ให้กับผู้ใช้ในกลุ่มธุรกิจองค์กร


หัวเว่ยจึงแนะนำหน้าจออัจฉริยะใหม่ 'หัวเว่ย ไอเดียฮับ' (Huawei IdeaHub) ว่าสามารถใช้เป็นเทอร์มินัลหรือแหล่งรวมสมาร์ทโฟนหลายเครื่องในห้องประชุม เพื่อแบ่งปันข้อมูลหรือไอเดียในระหว่างการประชุม นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นกระดานอัจฉริยะหรือเครื่องมือสื่อสารระดับมืออาชีพ แถมยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ของหัวเว่ยได้ รวมถึงระบบการทำงานร่วมกัน โดยหน้าจออัจฉริยะนี้จะมาพร้อมกับแอปพลิเคชันหลากหลายเพื่อใช้ในการประชุม ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตั้งได้จากร้านดาวน์โหลดแอปของหัวเว่ยเองอย่าง 'หัวเว่ย แอป แกลเลอรี่' (Huawei AppGallery)

ความน่าสนใจคือ IdeaHub มีฟังก์ชั่นสื่อสารที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหัวเว่ย การันตีว่าจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การประชุมที่ดีกว่า เช่น การจัดเฟรมอัตโนมัติที่เน้นตามจำนวนคนในห้องประชุม (Auto-Framing) และการบล็อกปิดเสียงรบกวนจากนอกพื้นที่ประชุม (Acoustic Baffle) และการจัดการให้ไมโครโฟนเก็บเสียงผู้พูดได้อัตโนมัติ (Speaker Tracking) เบื้องต้นหัวเว่ยเปิดให้จองตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนนี้

การเปิดตัวหน้าจออัจฉริยะนี้ถูกมองว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาที่โลกเริ่มคลายล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะชาวโลกกำลังต้องการการประชุมจากระยะไกลที่คมชัดประสิทธิภาพสูง หัวเว่ยจึงวางกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มเด็กนักเรียนและครู รวมถึงคนทำงานทุกระดับที่ต้องการฟีเจอร์วิเคราะห์ลายมือ รวมถึงการฉายภาพความละเอียดสูงที่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันจากทุกที่ได้แบบไม่ต้องเดินทาง
 ในขณะที่หัวเว่ยยังไม่เปิดเผยเป้าหมายและรายละเอียดการทำตลาดสินค้าใหม่ในไทย ทั้งโลกจึงได้แต่จับตาว่าหัวเว่ยจะใช้รูปแบบหรือวิธีการประนีประนอมใดเพื่อให้บริษัทสามารถทำธุรกิจในเวทีโลกได้ต่อไป รวมถึงหน้าตาของอาวุธหนักสำหรับต่อสู้ ที่หัวเว่ยจะต้องใช้เพื่อต้านแรงบีบบังคับให้หัวเว่ยออกห่างจากตำแหน่งแชมป์เทคโนโลยีโลก

แน่นอนว่าหากสู้ไม่ได้ ฝันร้ายนี้จะไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น