ในช่วงเวลาที่กลุ่มทรู เริ่มนำเสนอเทคโนโลยี 5G ออกสู่สาธารณะภายใต้แคมเปญอย่าง True 5G World ได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองที่สำคัญต่อประเทศไทยว่ากลุ่มทรู จะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ดิจิทัล
หนึ่งในภารกิจสำคัญของกลุ่มทรู คือการนำ 5G เข้าไปสนับสนุนทางด้านการแพทย์ ที่ได้ตัวแทนอย่าง 'หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์' มาช่วยสื่อสารการนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ประเดิมด้วยการเข้าไปร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ในการนำ True 5G เข้าไปพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ หรือ ER New Normal ที่ทางโรงพยาบาลต้องมีการปรับตัวให้รับกับทั้งสถานการณ์โควิด-19 และการรับผู้ป่วยที่รวดเร็วมากขึ้นไปในตัว
เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มทรู เริ่มนำ 5G มาใช้กับระบบสาธารณสุขก่อน เนื่องจากเล็งเห็นว่า รูปแบบการรักษาของแพทย์ และพยาบาลในยุคหลังโควิด-19 จะมีวิถีการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไป หลายๆอย่างเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างเช่นในรูปแบบของการดูแลผู้ป่วย ที่ปัจจุบัน แพทย์ พยาบาล ยังมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนชุดป้องกันเชื้อโรค ดังนั้นการนำวิทยาการอย่างระบบสื่อสารระหว่างแพทย์ และคนไข้ ผ่านหุ่นยนต์เข้ามาช่วยก็จะลดการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงได้
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญมากคือการลดปริมาณคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก สามารถรักษาได้ผ่านระบบ Teleclinic เพื่อให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษา วินิจฉัยโรค โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาก็สามารถทำนัดกับแพทย์ เพื่อเข้ามาพบตามอาการได้ทันที
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มทรู เข้ามาร่วมพัฒนากับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เนื่องด้วยการที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ที่เปรียบเสมือนการเป็นตัวแทนโรงพยาบาลประจำจังหวัด เมื่อพัฒนา และทดลองแล้วเสร็จก็สามารถขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ทันที
แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มทรู ไม่ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มทรูได้เข้าไปร่วมพัฒนาเทคโนโลยี 5G กับโรงพยาบาลของภาครัฐอย่างต่อเนื่องทั้ง ศิริราช มหิดล รามาฯ และจุฬาฯ แล้ว
'จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นศักยภาพของหน่วยงานสาธารณสุขของไทยซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแรงมาก ในส่วนของกลุ่มทรูก็จะเข้าไปร่วมนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยดีขึ้นเป็นผู้นำของเทคโนโลยีนี้ให้ได้'
ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาได้จำกัด จากข้อจำกัดของ 3G และ 4G ที่ทำความเร็วได้ระดับหนึ่ง แต่เวลาใช้จริงที่ต้องการสื่อสารที่ฉับไว กลับกลายเป็นว่าคนไข้รู้สึกติดขัดทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร พอมาเป็น 5G ข้อจำกัดเหล่านี้หายไป สามารถใช้งานวิดีโอคอลได้ไม่แตกต่างจากโทรศัพท์
ทั้งนี้ ในการนำ True 5G เข้าไปช่วยพัฒนาทางการแพทย์ จะถูกนำไปใช้งานใน 2 ส่วนหลักๆ คือกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยีสื่อสารเดิมมาใช้งานอยู่แล้วแต่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร พอมี 5G เข้ามาทำให้การสื่อสารลื่นไหล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกกลุ่มคือทำให้เกิดการศึกษา การนำไปใช้งานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดกับ 4G มาก่อน อย่างเช่นหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล หรือการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Teleclinic ที่จะเข้าไปช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง เพื่อทำให้โรงพยาบาลไม่เกิดความแออัด ให้เหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้
'ที่ผ่านมากลุ่มทรูลงทุน 5G ทางการแพทย์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ทั้งการติดตั้งโครงข่ายให้รองรับการใช้งาน 5G ผสมกับการพัฒนาโซลูชันต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาทดลองประมาณ 1 เดือนก่อนนำไปคิดเป็นบิสสิเนสโมเดลอีกครั้ง'
สำหรับ 4 เทคโนโลยีที่ True 5G เข้าไปสนับสนุน และพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ประกอบไปด้วย True 5G MedTech Ambulance ที่เข้าไปเสริมระบบสื่อสารภายในรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภายในรถฉุกเฉินได้โดยไม่มีความหน่วง
ข้อดีของการนำ True 5G เข้าไปใช้ ช่วยให้สามารถส่งข้อมูลการทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อมก่อนที่คนไข้จะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การรักษาทำได้รวดเร็วขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยด้วย
ถัดมาคือ AR Professional Consult Powered by True 5G ระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะเพื่อการสื่อสารเสมือนจริง สำหรับใช้ในการสื่อสารระยะไกลระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะเห็นภาพในมุมมองเดียวกันจากแว่นที่แพทย์ฉุกเฉินใส่ ทำให้สามารถให้ความเห็นได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ก็จะมี True 5G Temi Connect & CareBot หุ่นยนต์สื่อสารอัจฉริยะ ที่นอกจากจะใช้ในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง ยังสามารถช่วยส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เอกสาร หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยสามารถบังคับได้จากระยะไกล
สุดท้ายคือ Nopparat Teleclinic Powered by True 5G ด้วยการนำเทคโนโลยี Vhealth Platform แอปพลิเคชันสำหรับคัดกรอง ให้คำปรึกษา และวินิจฉัยโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล โดยตรวจคัดกรองคนไข้ผ่านคำถามต่าง ๆ เพื่อเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล และสามารถทำนัดกับแพทย์ได้ทันที ตามอาการที่ได้ระบุ หากจำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ต่อไป
'แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่กลุ่มทรูทำการทดลองร่วมกัน และยังไม่รู้ว่าอะไรดีที่สุด อะไรที่ทำแล้วเวิร์คไม่เวิร์ค แต่เห็นว่าทำแล้วใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องพัฒนาร่วมกันไปก่อน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด'
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาทางการแพทย์ คือต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน และนำแนวคิดของสตาร์ทอัปมาใช้ อย่างเรียนรู้ เมื่อล้มต้องล้มให้เร็ว ลุกให้เร็วที่สุดเช่นกัน ในช่วงที่ ทุกคนไม่สามารถตอบได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง หรือมีกลับมาใหม่หรือไม่ ส่วนที่สำคัญที่สุดในโรงพยาบาลคือ ห้องฉุกเฉิน ที่ต้องมีการปรับตัวให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อคนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์
การนำ True 5G เข้ามาช่วยพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่จะช่วยทั้งลดความแออัดของการให้บริการในห้องฉุกเฉิน ลดการสัมผัส แต่ยังคงความใกล้ชิดระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ