เสียวหมี่ เผยผลประกอบการ ไตรมาสแรกปี 63 เติบโต 13.6% ด้วยรายได้ 4.97 หมื่นล้านหยวน กำไร 2.3 พันล้านหยวน ภายใต้กลยุทธ์ Dual Engine ทำตลาดทั้งสมาร์ทโฟน และ AIoT
นายเหลย จวิน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และซีอีโอของ เสียวหมี่ กล่าวว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมจะกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรง แต่กลุ่มบริษัทเสียวหมี่ยังคงมีการเติบโตในทุกเซ็กเมนต์ท่ามกลางภาวะตลาดที่ตกต่ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่น การปรับตัว และขีดความสามารถในการแข่งขันของรูปแบบธุรกิจของเสียวหมี่
“ในไตรมาสแรกของปี 2563 เรายังถูกจัดให้อยู่ใน 'Forbes' Global 2000' อีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงการเป็นที่ยอมรับของเสียวหมี่ในตลาดทุนต่างประเทศ และเชื่อว่าวิกฤตถือเป็นบททดสอบที่ดีที่สุดถึงมูลค่าของบริษัท รูปแบบธุรกิจ และศักยภาพในการเติบโต”
เมื่อผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดเริ่มบรรเทาลง เสียวหมี่จะยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ '5G + AIoT' และเพิ่มความแข็งแกร่งในขนาดของการลงทุนของยิ่งขึ้นเพื่อให้ทุกคนในโลกมีความสุขกับชีวิตที่ดีขึ้นจากเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม
โดยปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการในไตรมาสแรกของเสียวหมี่เติบโตขึ้น มาจากการนำกลยุทธ์ Dual-Brand มาใช้ในการทำตลาดสมาร์ทโฟนทั้งแบรนด์ Mi และ Redmi ทำให้มีรายได้ในกลุ่มนี้อยู่ที่ 3.03 หมื่นล้านหยวน เติบโต 12.3% ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 11.1% ครองอันดับที่ 4 จากทั่วโลกในด้านยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟน
เช่นเดียวกับธุรกิจ IoT ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้ 1.3 หมื่นล้านหยวน ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ของเสียวหมี่กว่า 252 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 42.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ยังพบว่า จำนวนผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์ 5 เครื่องขึ้นไปที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ไม่รวมสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป มีจำนวนถึง 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 67.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนแอปพลิเคชัน Mi Home มีผู้ใช้งานถึง 40 ล้านคนต่อเดือน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบไปด้วย สินค้าในกลุ่มโทรทัศน์ เราเตอร์ หูฟังไร้สาย สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และหุ่นยนต์ดูดฝุ่น